วันที่ 23 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา แกนนำ นปช. ธิดา ถาวรเศรษฐ นพ.เหวง โตจิราการ และแนวร่วมคนเสื้อแดง เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย
ธิดา กล่าวว่า ขอขอบคุณพรรคการเมืองทั้งหมดที่ยืนยันในการทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนโล่งใจ และได้รับข้อมูลมากมาย แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เพราะการเปลี่ยนจากประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเปลี่ยนความคิดของคนจำนวนมากจึงต้องใช้เวลา
"จึงขอให้กำลังใจพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลเที่ยวหน้า"
ธิดา ยังเผยว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้รับผลกระทบโดยการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนปลาย หยุดชะงัก และถูกเบี่ยงเบนเนื่องจากอำนาจรัฐของการทำรัฐประหารต่อเนื่อง ในวาระที่คดีความยังมีเวลาเหลือเพียง 7 ปี คณะประชาชนทวงความยุติธรรมที่ประกอบด้วย ญาติวีรชนผู้สูญเสีย ทนายความที่ได้ร่วมดำเนินคดีตั้งแต่ต้น และกลุ่มคนเสื้อแดง ผู้ถูกกระทำจากการปราบปรามครั้งนั้น ได้ร่วมกันเรียกร้องความยุติธรรมในห้วงเวลาใหม่ที่หวังว่าพรรคการเมือง นักการเมือง จะได้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลง สร้างประเทศไทยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยจริง จึงมีข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง ดังต่อไปนี้
1. ทำการเร่งรัดตรวจสอบและผลักดันคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน ไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าได้ (ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย) นับจากการทำรัฐประหาร2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อมิให้มีการฆ่าประชาชนกลางถนนซ้ำซากโดยผู้กระทำและสั่งการ “ลอยนวลพ้นผิด” ซึ่งอาจเกิดได้อีกในอนาคต รวมทั้งตรวจสอบผลักดันคดีความในช่วงเวลาปัจจุบัน อันเป็นคดีความทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งทางการเมือง
2. แก้ไขกฎหมาย กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชน พลเรือน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ทหารและนักการเมืองไม่ได้ถูกดำเนินคดีเฉกเช่นประชาชนทั่วไป
3. เมื่อได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีเหตุการณ์2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555
4. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ตามสัดส่วนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้ลงนามไว้ในสหประชาชาติ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว
5. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง พ.ร.บ.องค์กรรัฐซ้อนรัฐ กอ.รมน. และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง
6. ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชนอำนาจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นถึงปลาย อำนาจองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ล้วนต้องยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งกองทัพ โครงสร้างการบริหารขององค์กรเหล่านี้ สมคบกันจัดการประชาชน และมีที่มาจากกลุ่มอภิชนด้วยกัน
7. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย และการคอรัปชั่นส่งนายใหญ่ตามลำดับ ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย
8. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา ส.ส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย เพราะตราบเท่าที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง วุฒิสมาชิกถูกแต่งตั้งจากรัฐทหารจารีต อำนาจประชาชนก็ถูกจัดการทำลาย ยุบพรรคการเมืองโดยง่าย จับกุมคุมขัง ลงโทษประชาชนผู้เห็นต่างเหมือนเช่นทุกวันนี้