ที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ ในอ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ มีชาวนาจำนวนมากนำข้าวเปลือกที่ผ่านการตากแห้งแล้วมาขาย โดยเฉพาะชาวนาที่ปลูกข้าวเหนียว หลังจากราคาข้าวเหนียวพุ่งสูงขึ้นถึงตันละ 15,000 บาท โดยบางรายต้องมาจองคิวกันตั้งแต่เช้ามืด และต้องจอดรถรอคิวขายข้าวกัน
นายศรายุทธ ยุบลเลิศ อายุ 51 ปี ชาวนา อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า วันนี้ตนนำข้าวที่ผ่านการตากแดดแห้งแล้วมาขายจำนวน 1 ตัน ซึ่งขายได้ได้ตันละ 14,500 บาท เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ราคาข้าวสูง จึงต้องการขายในช่วงนี้ เพื่อที่จะนำเงินไปใช้หนี้ค่าเกี่ยวข้าว และใช้จ่ายในครอบครัว แต่การขายต้องใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากมีเกษตรกรที่ทราบข่าวว่าราคาข้าวเหนียวสูง ต่างก็นำข้าวของตนเองมาขายเหมือนกัน ทำให้บางวันต้องจอดรถรอคิวนานและยาวหลายร้อยเมตรเลยทีเดียว
นายธนพล ธรรมโนขจิต ผู้จัดการตลาดกลางข้าวและพืชไร่ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงนี้การรับซื้อข้าวเปลือกใกล้เข้าสู่ในช่วงปลายฤดูกาลแล้ว แต่บรรยากาศยังคงคึกคักไม่แพ้ช่วงต้นๆ เนื่องจากยังคงมีเกษตรกรในหลายพื้นที่ ซึ่งได้นำข้าวเปลือกไปตากให้แห้งและชะลอการขาย พร้อมกับนำมาขายที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียว จากที่ในช่วงต้นฤดูกาลราคารับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 9,000 บาท ปัจจุบันราคาข้าวเหนียวสดสูงขึ้นเป็นตันละ 12,500-13,000 บาท ส่วนข้าวแห้งความชื้นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์รับซื้ออยู่ที่ตันละ 14,500 – 15,000 บาท แตกต่างจากราคาการรับซื้อเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งราคาข้าวเปลือกเหนียวสูงสุดอยู่ที่ตันละ 12,000 บาทเท่านั้น
นายธนพล เพิ่มเติมว่า ส่วนราคาของข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินั้นปีนี้ต่ำลงมาเล็กน้อย โดยข้าวหอมมะลิสดอยู่ที่ตันละ 11,500-12,000 บาท และข้าวหอมมะลิแห้งความชื้นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ตันละ 14,500-15,000 บาท จากปีที่แล้วอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท สาเหตุเกิดจากค่าเงินบาทของไทยแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไม่สูงเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไปไม่ค่อยดี การส่งออกก็ลำบาก ซึ่งที่จริงแล้วหากไม่มีเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ผลผลิตข้าวปีนี้ไม่สมบูรณ์มีปริมาณน้อยลงราคาข้าวก็น่าจะปรับสูงขึ้น
สำหรับสาเหตุที่ราคาข้าวเหนียวในปีนี้สูงขึ้นจากปีที่แล้วตันละ 12,000 บาท มาถึงตันละ 15,000 บาทนั้น ปัจจัยหลักคือหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลิตข้าวเหนียวของภาคอีสานหายไปจำนวนมาก ซึ่งยังเป็นห่วงว่าในช่วงกลางปี 2563 เกษตรกรที่ปลูกข้าวในบางจังหวัดอาจจะต้องซื้อข้าวบริโภคเอง ทำให้เป็นภาระอีกอย่างหนึ่ง เพราะประสบปัญหาภัยแล้งและเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้
อย่างไรก็ตามสำหรับการปลูกข้าวนาปรังที่กำลังจะมาถึงนี้ อยากให้เกษตรกรให้ความสำคัญของเรื่องพันธุ์ข้าวปลูก เพราะหากพันธุ์ข้าวดีแล้วจะส่งผลให้คุณภาพข้าวและขายได้ราคาดีด้วย โดยเกษตรควรที่จะใช้พันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์หรือหน่วยงานให้การรับรอง ควรหลีกเลี่ยงและเลิกใช้พันธุ์ข้าวเก่าๆ หรือที่เรียกกันว่าพันธุ์เล้าแตก เพราะมีมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการกลายพันธุ์ จนเป็นเม็ดใสและข้าวเหนียวกลายเป็นข้าวเจ้าได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง