เทรนด์ดิจิทัลต่อไปคืออะไร? ธุรกิจปีนี้ไปในทิศทางไหน? การเมืองมีแนวโน้มอย่างไร? ไปจนถึงเรื่องความรักและบันเทิง เป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ ประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นเป็นหัวข้อในวงสนทนาออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันใหม่มาแรงที่ชื่อว่า Clubhouse หรือ คลับเฮาส์ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือระบบไอโอเอส (iOS) ในไทย
แอปฯ Clubhouse จัดเป็นแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียรูปแบบหนึ่งที่มีความกึ่งพอดแคสต์ กึ่งประชุมสายแบบคอนเฟอร์เรนซ์ แต่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่เน้นการสนทนาแบบไลฟ์เฉพาะเสียงเท่านั้น ตรงข้ามกับการไลฟ์วิดีโอ จึงไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าผู้พูด และจุดเด่นสำคัญคือไม่สามารถบันทึกเสียงได้ เมื่อการสนทนาสิ้นสุดจึงไม่มีข้อมูลใดที่ถูกพูดในวงเสวนาหลุดรอดออกมา
Clubhouse ถูกพัฒนาขึ้นโดย Alpha Exploration Co. บริษัทนักพัฒนาซอฟต์แวร์สตาร์ทอัพในย่านซิลิคอนวัลเลย์ ภายใต้การนำของ 2 โปรแกรมเมอร์ 'พอล เดวิสัน' และ 'โรฮัน เซธ' บนแนวคิดที่ต้องพัฒนา 'โซเชียลมีเดีย' รูปแบบใหม่เพื่อกลบข้อด้อยของแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ หรือ อินสตาแกรม ซึ่งเน้นการสื่อสารผ่านตัวอักษร ภาพ ไลฟ์วิดีโอ เป็นหลักอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กนั้น เจ้าของบัญชีที่ไลฟ์สามารถพูดสื่อสารได้ทางเดียว ขณะที่ผู้ฟังทำได้เพียงคอมเมนต์เท่านั้น
Clubhouse จึงถูกคิดค้นมาด้วยจุดเด่นที่ผู้เข้าร่วมสามารถพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์ได้พร้อมๆ กัน โดยที่การเน้นสนทนาด้วยเสียงเป็นหลัก ในรูปแบบกลุ่มหรือวงสนทนาในหัวข้อประเด็นต่างๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถขึ้นพูดได้พร้อมกัน ผู้ที่จะเข้าร่วมแอปฯ นี้จะต้องได้รับการเชิญก่อนเท่านั้นในตั้งแต่ครั้งแรกที่สมัคร ก่อนเข้าร่วงห้องสนทนา โดยในหนึ่งห้องประกอบด้วยสมาชิก 3 สถานะคือ
เจ้าของห้องจะทำหน้าที่คล้ายกับประธานที่ประชุม คอยควบคุมเปิด-ปิดไมค์ของสมาชิกในห้องแชท หรืออนุญาตให้สมาชิกในห้องขึ้นพูด จุดเด่นสำคัญของคลับเฮาส์คือ การสนทนารูปแบบเรียลไทม์ที่ไม่สามารถย้อนกลับมาฟังได้ รวมถึงไม่มีการบันทึกเสียงระหว่างสนทนา ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สมาชิกหลายๆ คน ไม่อยากพลาดการเข้าร่วมฟัง
แอปพลิเคชัน Clubhouse เปิดตัวเมื่อเม.ย. 2563 ตรงกับช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 เดือนต่อมาแอปฯ กลับมีมูลค่ามากถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานไม่น้อยกว่า 1,500 คน
"เหมือนคุณไปนั่งตามร้านเหล้าแล้วพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน" ผู้ก่อตั้งคลับเฮาส์เผยถึงแนวคิดของแอปฯ ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการล็อคดาวน์คุมระบาดจึงทำให้วงสนทนาออนไลน์นี้มียอดผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลมีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการที่เข้ามาพูดคุยบนแพล็ตฟอร์ม ยิ่งทำให้แอปฯ ได้รับการจับตามองอย่างโดดเด่น
ม.ค. 64 อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา และสเปซเอ็กซ์ นับเป็นเป็นบุคคลที่ทำให้แอปฯ กลายที่รู้จักวงกว้างจากการที่เขาเข้าร่วมวงสนทนาบน Clubhouse กับ วลาดิเมียร์ เทเนฟ ซีอีโอบริษัทด้านการเงินโรบินฮู้ด (Robinhood) ซึ่งการจำกัดของห้องสนทนาบทคลับเฮาส์ ทำให้วงสนทนาในครั้งนั้นต้องมีการถ่ายทอดสดมายังยูทูบ ทั้งยังมีผู้เข้าร่วมฟังบนยูทูบจนติดอันดับสูงสุด ในเดือนเดียวกันนี้ บริษัทผู้พัฒนา Clubhouse ได้กลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายใหม่ ด้วยมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ก.พ. 64 มัสก์ทวีตข้อความเชิญชวนให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เข้าร่วมวงสนทนาบน Clubhouse ซึ่งทางทำเนียบเครมลินยังออกมาแสดงความสนใจ แม้ยังไม่ได้ตอบรับอย่างเป็นทางการก็ตาม
ด้วยความโด่ดเด่นของ Clubhouse ที่มีฟีเจอร์ห้ามไม่ให้มีการบันทึกเสียงหรือวิดีโอ จึงทำให้ไม่มีเสียงการสนทนาหลุดรอดออกมา (เว้นแต่จะใช้อุปกรณ์อีกชิ้นบันทึก) ทำให้แอปฯ นี้ 'ตรงสเปค' สำหรับการสนทนาประเด็นละเอียดอ่อนในหลายเรื่อง นอกจากเรื่องเทรนด์ด้านธุรกิจหรือไอทีเท่านั้น
"มีค่ายกักกันที่ซินเจียงจริงหรือไม่" (Is there a concentration camp in Xinjiang?) คือหนึ่งในประเด็นสนทนาที่มีบรรดาผู้ใช้งานชาวจีนให้ความสนใจเข้าร่วมถกเถียงกันเป็นจำนวนมากยาวนานหลายชั่วโมง นอกจากนั้นยังพบกลุ่มสนทนาในประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องอื่นๆ ทั้งการปราบปรามผู้ประท้วงฮ่องกง จนถึงประเด็นไต้หวันกับจีน
ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีอธิบายว่า แม้จีนจะมีระบบปิดกั้นโซเชียลมีเดียจากภายนอกอย่าง 'เกรตไฟร์วอล์' (Great Firewall) แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นได้หมด 100% ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวจีนจึงอาศัยเป็นช่องโหว่พูดคุยประเด็นต้องห้ามเหล่านี้กันอย่างดุเดือด จึงไม่แปลกที่เวลาต่อมาไม่นาน ช่วงต้นเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ทางการจีนจึงสั่งบล็อคการเข้าใช้งานแอปฯ ดังกล่าว
สิ่งที่ดึงดูดความน่าสนใจของผู้ใช้งาน Clubhouse ก็คือ มันเป็นแอปพลิเคชันรูปแบบปิดที่ผู้ใช้งานต้องได้รับเชิญก่อน ผู้สมัครที่ใช้งานใหม่จะได้รับคำเชิญได้เพียง 2 คำเชิญ จึงยิ่งมีผลทางจิตวิทยาให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ iOS อยากเข้าร่วมฟัง ประกอบกับบุคคลที่ร่วมวงสนทนามักเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดจากหลากหลายวงการ ทั้งนักบริหาร นักธุรกิจ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งทุกคนสามารถขึ้นเป็น Speaker ได้ หากได้รับการอนุญาตจากเจ้าของห้อง ประกอบกับการสนทนานั้นไม่สามารถบันทึกได้ ทำให้ย้อนกลับมาฟังคราวหลังไม่ได้ ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานยิ่งไม่อยากพลาดการพูดคุย
ปัจจุบัน Clubhouse ยังถือเป็นแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียรูปแบบปิด ที่เปิดให้ใช้งานฟรีแบบไม่มีโฆษณา และอยู่ในช่วงการทดลองใช้งานแบบ "เบต้า" การเข้าถึงแอปจะต้องผ่านการชวนเข้าร่วมเท่านั้น คล้ายกับสมาคมเฉพาะ ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มแรกเป็นศิลปินคนมีชื่อเสียงระดับเอ-ลิสต์ อาทิ จาเร็ด เลโต และ ทิฟฟานี แฮดดิช นักแสดง ไปจนถึง ผู้บริหารคนดังอย่าง แจ็ค ดอร์ซีย์ อีลอน มัสก์ และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เข้าร่วม
ขั้นต่อไปผู้พัฒนาวางแผนการก้าวข้ามข้อจำกัดของแพล็ตฟอร์มจากปัจจุบันที่ใช้ได้เฉพาะอุปกรณ์ระบบ iOS ให้ใช้ได้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งแม้ยังจำกัดเฉพาะบนอุปกรณ์ของแอปเปิ้ลเท่านั้น แต่จากข้อมูลของเซ็นเซอร์ทาวเวอร์ (Sensor Tower) ซึ่งวิเคราะห์การใช้งานแอปพลิเคชันเผยว่า นับจนถึงสิ้นเดือนม.ค. มียอดดาวน์โหลดแอปฯ นี้ไม่น้อยกว่า 2.3 ล้านครั้ง
ที่มา: Forbes , TheGuardian , Softwarepundit , Joinclubhouse