ไม่พบผลการค้นหา
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะสุภาพสตรีศัลยกรรมเสริมหน้าอกขนาดที่เหมาะสมกับโครงสร้างร่างกาย อย่าตัดสินว่าทำทั้งทีต้องใหญ่เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว

นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าบริการทางด้านการแพทย์และเสริมความงามเป็นบริการที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นการเสริมจมูก เสริมคาง ทำตา 2 ชั้น หรือการปรับรูปหน้าให้เรียว ฯลฯ ต่างได้รับความสนใจในกลุ่มสุภาพสตรี โดยเฉพาะการศัลยกรรมเสริมหน้าอกเพื่อปรับสรีระร่างกายให้ดูสวยงามโดดเด่นนั้น ยิ่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ แต่ด้วยสุภาพสตรีบางท่านมองว่าหากจะทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกทั้งที ต้องทำให้คุ้มต้องเสริมหน้าอกให้มีขนาดใหญ่ โดยมิได้คำนึงถึงโครงสร้างร่างกายของตนจึงอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งตามหลักการแพทย์นั้นการศัลยกรรมเสริมหน้าอกให้มีขนาดใหญ่เกินโครงสร้างของร่างกายย่อมส่งผลเสียมากกว่า แม้ในระยะแรกจะทำให้หน้าอกดูสวยโดดเด่น แต่ในระยะยาวอาจจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่อร่างกาย หลายประการ อาทิ

1.น้ำหนักของซิลิโคนที่มากเกินไปทำให้ในอนาคต หน้าอกหย่อนคล้อย ไม่กระชับได้รูป

2.เกิดพังผืด จากการเสริมหน้าอกขนาดใหญ่มากจนเกินไป ทำให้ร่างกายสร้างพังผืดมารัดบริเวณซิลิโคน จนหน้าอกเกิดการแข็ง รูปร่างของหน้าอกเสียรูป

3.ซิลิโคนไปกดทับเส้นประสาทบริเวณหัวนม ทำให้หัวนมเกิดอาการชาถาวรจากการรับเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของเต้านม อีกทั้ง เสี่ยงต่อการทำให้แผลเปิด จนติดเชื้อ จากการเสริมหน้าอกที่มีขนาดใหญ่เกินไปจนทำให้ผิวหนังบาง แผลจากการเสริมหน้าอกเปิดได้ และหากเสริมหน้าอกใต้กล้ามเนื้ออาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ดังนั้น ก่อนรับบริการศัลยกรรมเสริมหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์และตรวจสอบโครงสร้างร่างกายว่าควรเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนขนาดเท่าไรจึงเหมาะสม อย่าตัดสินว่าขนาดใหญ่ถึงจะดี ต้องทำให้พอดีเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ร่างกายในระยะยาว ซึ่งต้องขอยืนยันว่าอวัยวะที่เกิดโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน คือ ความสมดุลและความเหมาะสมอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ดัดแปลง ปรุงแต่ง นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังอาจเกิดผลข้างเคียงได้

ประการสำคัญ หากจำเป็นต้องรับบริการ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ทุกคนรับบริการจากสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นการศัลยกรรมเสริมหน้าอกจะต้องกระทำในห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน โดยสามารถตรวจสอบหลักฐานสถานพยาบาลว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่จากหลักฐาน ดังนี้

1.ป้ายชื่อคลินิกมีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก

2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการคลินิก โดยเลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก

3.มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกเป็นปีปัจจุบัน

4.มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจรักษา โดยสามารถตรวจสอบชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส. (www.mrd-hss.moph.go.th) หากไม่พบชื่อสถานพยาบาลหรือหลักฐานที่ต้องแสดงไม่ครบถ้วนไม่ควรรับบริการโดยเด็ดขาด และแจ้งให้กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ดำเนินการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :