ไม่พบผลการค้นหา
จากการรายงานของรัฐบาลอาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศ ได้จัดการเจรจาขึ้น ณ เมืองเจนีวา เพื่อหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพในอนาคต หลังมีการปะทะกันอย่างรุนแรงของกองกำลังทั้งสอง ในเดือน ก.ย.

รายงานเปิดเผยว่า การปะทะกันระหว่างกองกำลังของทั้ง 2 ประเทศในเดือนที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 286 คน ก่อนที่จะมีการเจรจาหยุดยิงโดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง ทั้งนี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นการปะทะกันที่รุนแรงที่สุด ในบริเวณเทือกเขาคอเคซัส นับตั้งแต่ปี 2563

กองกำลังของอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน เคยมีการปะทะกันมาก่อน 2 ครั้ง ในปี 2563 และในทศวรรษที่ 1990 จากกรณีข้อพิพาททางดินแดนในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นดินแดนที่มีประชากรชาวอาร์เมเนียอาศัยอยู่เป็นำจนวนมาก แต่กลับอยู่ภายใต้การควบคุมของอาเซอร์ไบจาน

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ต.ค.) เจย์ฮุน เบย์รามอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่า ตัวเขา และ อารารัต มีร์โซยาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอาร์เมเนีย ได้เข้าพบกันในวันอาทิตย์ (2 ต.ค.) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเริ่มต้นการ “ร่างเนื้อหาของสนธิสัญญาสันติภาพ”

การพบกันในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการประชุมโดยมีสหภาพยุโรปเป็นตัวกลางในวันที่ 31 ส.ค. ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยในครั้งนั้นมี อิลฮาม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีของอาเซอร์ไบจาน และ นิคอล พาชินยาน นายกรัฐมนตรีของอาร์เมเนียเข้าร่วมการหารือด้วย

กระทรวงการต่างประเทศของอาเซอร์ไบจานแถลงว่า อาเซอร์ไบจานเรียกร้องให้อาร์เมเนีย ถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่ของอาเซอร์ไบจาน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปิดการคมนาคม และสายโทรคมนาคมอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอาร์เมเนียระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้สิทธิและความปลอดภัยของชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค ได้รับการรับรอง

โดยข้อเรียกร้องของอาร์เมเนียต่ออาเซอร์ไบจานเอง มีลักษณะคล้ายกัน คือ อาร์เมเนียเรียกร้องให้อาเซอร์ไบจานถอนกำลังของตนออกจากประเทศตน พร้อมกับการปล่อยตัวเชลยสงคราม และการหา “กลไกระดับนานาชาติสำหรับการควบคุมสถานการณ์ในบริเวณชายแดน”

ทั้งนี้ อาลีเยฟและพาชินยาน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย ได้พบกันครั้งล่าสุดในวันที่ 20 ก.ย. ณ เมืองนิวยอร์ก โดยมี แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เป็นตัวกลางในการเจรจา

สงครามในปี 2563 ซึ่งกินระยะเวลานาน 6 สัปดาห์ ได้คร่าชีวิตทหารจากทั้ง 2 ประเทศไปกว่า 6,500 นาย และจบลงด้วยการเจรจาหยุดยิงที่รัสเซียสนับสนุน โดยภายใต้เงื่อนไขของการเจรจาในครั้งนั้น อาร์เมเนียจะต้องส่งมอบดินแดนที่ตนควบคุมเป็นเวลาหลายศตวรรษ ให้กองกำลังรักษาสันติภาพประมาณ 2,000 คนจากรัสเซียเข้าดูแล

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัสเซียถูกโดดเดี่ยวบนเวทีนานาชาติ หลังการบุกรุกยูเครนในเดือน ก.พ. สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้กลายเป็นตัวแสดงสำคัญ ในกระบวนการปรับความสัมพันธ์ของอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานแทน


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2022/10/3/armenia-azerbaijan-top-diplomats-hold-peace-talks-in-geneva