นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค ประกอบด้วย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่แจกเจลแอลกอฮอลล์ล้างมือ สำหรับป้องกันไวรัสโควิด -19 ให้กับประชาชนตั้งแต่ช่วงเช้าที่ที่มัสยิดตลาดพลู จากนั้นเดินเลาะไปตามถนนเทอดไท ก่อนที่จะนั่งรถต่อไปลงที่ตลาดจอมทอง และปิดท้ายในช่วงบ่ายที่การเคหะธนบุรี 3 เขตบางขุนเทียน โดยระหว่างพบปะประชาชนต่างสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาของรัฐบาลกรณีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ด้าน นายพิธา กล่าวว่า จากการมาได้เยือนพื้นทำให้ทราบว่า ยังมีประชาชนที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากผลกระทบ ปัญหาไวรัสโควิด-19 อยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบอาชีพอิสระหลายรายที่เป็นเป้าหมายของการเยียวยายังเข้าไม่ถึง เป็นต้นว่าคนที่อยู่ในชุมชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น คนขับแท็กซี่ที่วันนี้ก็ยังรอรับเงินเยียวยา ขณะที่การออกไปวิ่งรถมีรายได้ไม่ถึง 300 บาทต่อวัน เพราะแทบไม่มีลูกค้า หรือแม้แต่ แม่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายหนึ่งที่ตลาดจอมทอง ซึ่งคิดว่าตนเองน่าจะได้ 5,000 บาทต่อเดือนเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพรายอื่นๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อลงทะเบียนแล้วไม่มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับเงินเยียวยา เพราะไม่มีทะเบียนเป็นผู้ค้าเนื่องจากเป็นรายย่อย ขณะที่แผงค้ารายใหญ่ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ได้รับกันถ้วนหน้า
ส่วนนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานเป็นพาร์ทไทม์ ส่งเสียตัวเองเรียนก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ และยังมีอีกหลายอาชีพมากที่มาสะท้อนปัญหาให้ฟัง วันนี้ ประชาชนอยู่ในสภาวะเหมือนกลั้นหายใจ พวกเขาไม่สามารถทำงาน ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ จึงได้แต่ทนกลั้นหายใจโดยไม่รู้ว่าจะหมดลมหายใจเมื่อไหร่
นายเท่าพิภพ กล่าวว่า มาเยือนพื้นที่วันนี้ มีประชาชนหลายคนเข้ามาสอบถามเรื่องเงินเยียวยาเป็นจำนวนมากพร้อมสอบถามว่าตัวเองจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ และไม่รู้ว่าเงินจะเข้าเมื่อไร ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือจากรัฐที่ควรจะเป็น ตามที่พวกเราชาวพรรคก้าวไกลคิดคือ ต้องให้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ไม่ควรต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์อย่างที่เป็นอยู่ เพราะจะมีคนได้ และคนไม่ได้จนเกิดคำถามอย่างที่ได้ยินมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราควรคิดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ นี่เป็นโอกาสที่เราจะสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ด้าน นายณัฐชา กล่าวว่า เสียงสะท้อนจากพี่น้อง กทม.วันนี้ หลายคนยังเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ในการเยียวยา บรรเทา ผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด -19 โดยที่ชุมชนเคหะธนบุรี 3 เขตบางขุนเทียน หลายครอบครัวเช่าบ้านผู้อื่นอยู่ก็ไม่ได้รับเงินตามมาตรการคืนมิเตอร์ไฟฟ้า ขณะที่อีกหลายคนที่เป็นคนทำงานรับจ้างทั่วไป ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีกรณีของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็นอยู่จำนวนมาก ซึ่งสบช่องให้เกิดมีการตั้งโต๊ะช่วยลงทะเบียนให้ โดยมีผู้ร้องเรียนมาถึงตนบอกว่า ต้องไปจ้างคนอื่นลงทะเบียนให้ มีค่าใช้จ่าย 100-500 บาท ซึ่งเป็นการหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน แม้จะลงทะเบียนได้สำเร็จแล้วก็ยังมีความเสี่ยง ไม่มีความมั่นใจว่าจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนจากรัฐบาล เงินที่จ่ายไป 100-500 บาทอาจต้องสูญเปล่า