ไม่พบผลการค้นหา
เนื่องในวันครบรอบ 88 ปี รัฐธรรมนูญไทย ‘วอยซ์’ สรุปความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 บางรายที่เป็นคีย์แมนสำคัญ ในการยกร่างกฎหมายแม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไข หลังบังคับใช้ไปเพียง 2 ปี 7 เดือน

เนื่องจากมวลชนคณะราษฎร 2563 ที่เคลือ่นไหวชุมนุมเรียกร้องให้มีการรื้อกติกาสูงสุดที่ผ่านการประชามติอย่างไม่เสรีและไม่เป็นธรรมนั้น ละเมิดอำนาจประชาราษฎร์อย่างกว้างขวางและต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยบันทึกความในใจของ กรธ.คนสำคัญได้เชิดชู มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญที่เขาและคณะเรียกว่าฉบับปราบโกง แต่กลับกลายเป็นฉบับที่ปูทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจหลังการรํฐประหาร

สุพจน์ ไข่มุก อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไล่เรียงความภาคภูมิใจว่า กติกาสูงสุดนั้น ถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ มีการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติวาระ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปทั้งระบบ พร้อมทั้งเปรียบ กรธ.เสมือนโรงเรียนผู้ใหญ่ โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เปรียบเสมือนครูใหญ่ ที่ทำให้รู้สึกประทับใจความรู้ทางกฎหมายเฉกเช่นบรมครูทางกฎหมายของประเทศไทย

ส่วนความคาดหวังให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้คัดค้านเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชี้ว่า เป็นการวางรากฐานและการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ในทุกมิติ เพื่อเป็นหลักประกันการบริหารราชการ และอยากฝากให้ประชาชนทุกคนได้ศึกษาและอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างท่องแท้

อภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ย้อนความหลังเมื่อพ้นจากตำแหน่งประธาน กกต. ขณะประเทศกำลังวุ่นวาย ลุกลามทั่วทุกภูมิภา ปลายปี 2556 โดยมองว่า ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายเหลือง ฝ่ายแดงใช้กำลังและอาวุธทำร้าย แม้จะยุบสภา เลือกตั้ง หรือเจรจาปรองดองก็ไม่เป็นผล ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง โดยยกย่อง กรธ.เป็นพหุสูต ซึ่งนับว่า "เก่งมาก ดีมาก"

และเช่นเดียวกับ กรธ.ทุกราย จะต้องมีส่วนที่สรรเสริญ มีชัย ซึ่งมองว่า เป็นผู้ที่น่าเคารพอย่างยิ่ง ไม่เคยใช้อำนาจ ไม่เคยแสดงตน เหนือกว่าผู้อื่นทั้ง ๆ ที่เหนือกว่าอยู่มากมาย งานร่างรัฐธณรมนูญเป็นไปโดยเรียบร้อย มีความเป็นอิสระทุกอย่าง

พร้อมทั้งการันตีว่า "คสช.ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยว" การทำงานมีความปลอดโปร่งสบายใจ ทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นในการประชุมกอย่างเต็มที่ หากเห็นแย้งก็สามารถปรับปรุงได้เสมอ

"ส่วนใหญ่ท่านประธานมีชัยพิมพ์ร่างไว้ในแต่ละวันก็ผ่านพ้นไปด้วยดี" อภิชาต ระบุ

สิ่งที่ อภิชาติ ภูมิใจ คือ การที่มีประชาชน "นับร้อยคน" สนใจเข้าพบเพื่อรับฟังปัญหาในโครงการสนช.พบประชาชน ณ ศาลากลางจังหวัด ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายจุดที่ประชาชนแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ชนิดคาดไม่ถึง กรธ.ก็นำกลับไปปรับปรุง

อดีตประธาน กกต.ยังย้ำอีกว่า เราอาจจะมีคณะทหารยึดอำนาจการปกครองประเทศอยู่ แต่การร่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูกไม่ได้ทำตามคำสั่งหรือคำบงการของใคร มีเพียงกรอบการทำงาน 10 ข้อให้เหมาะกับความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมือง ในยามที่ต้องการควบคุมไม่ให้มีผู้ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขตตามความประสงค์ของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ปกครองประเทศ

ก่อนปิดท้ายด้วยคำอวยพร กรธ.ทั้ง 20 คน ที่ทำงานรับใช้ชาติ จงมีความสุขเจริญยิ่งขึ้นทั้งในหน้าที่การงาน และในชีวิตส่วนตัวตลอดไป

มีชัย.jpg

ถัดมา ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตโฆษก กรธ. ขมวดปมเรื่องราวภายใต้หัวข้อ ปฏิรูป ปราบโกง ไม่ทำให้เกิดขึ้นวิกฤต โดยเริ่มต้นจากความในใจว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจและประทับใจมากที่สุด การร่างรัฐธณรรมนูญครั้งนี้ ช่วยให้เขาเรียนรู้ว่า การวางกลไกเงื่อนไขต่าง ๆ ทางการเมืองปฏิบัติได้ต้องประนอมความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้เสย และ กรธ.ด้วยกัน

โดยขณะร่างรัฐธรรมนูญ มีความกังวลใจว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญที่จัดวางโครงสร้างอำนาจรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน จึงจะทำให้ประเทศก้าวพ้นวิกฤตทางการเมืองที่ประชาชนเกิดความขัดแย้งทางความคิดและผลประโยชน์ ประเทศหาทางออกไม่ได้ โจทย์จึงต้องขบคิดอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์ทรงเป็นประมุข จึงจะปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับหลักสากล และที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวิกฤตการเมืองขึ้นอีก

ทั้งนี้อดีตโฆษก กรธ. เล่าว่า พบว่าประชาธิปไตยตะวันตกทั้งหมดมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ยาก หลักคิดสำคัญประการหนึ่ง คือ "หลักการประนอมอำนาจ" มากกว่าแบ่งแยกอำนาจ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เสียงประชาชนไม่มีความหมาย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในสภามากเกินไป ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น จึงกำหนดให้ องค์กรอิสระทั้ง 5 ร่วมกันทำงาน ช่วยเหลือและรับผิดชอบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ก่อนจะชื่มชน มีชัย อีกว่า มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ใหญ่ใจดี เมตตา กรุณา หลักคิดลึกซึ้งแยบยล ไม่มีเขียนในตำราที่ไหน

ด้าน ประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกกต. การันตีว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนของรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายทรัพย์สิน เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นอกจากจะไม่ได้กำหนดไว้ก็จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กระทบความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ภูมิใจระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ว่า ไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน เช่นเดียวกับเนื้อหาในส่วนยุทธศาสตร์ชาติ และปฏิรูป

มีชัย ฤชุพันธุ์.jpg

อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. ว่าที่ผู้ท้าชิงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นว่า รู้สึกตื่นเต้นเมื่อต้องเข้ารับตำแหน่ง โดยออกตัวว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่การเขียนตำรา แต่ก็ค้นพบความย้อนแย้งกับความในใจของอดีตองค์กรอิสระ เหมือนกับชาติชายในลักษณะของความกดดันจากภายนอก ซึ่งสองรายแรกระบุว่า เมื่อลงมือร่างรัฐธรรมนูญ กลับปรากฏข้อเรียกร้อง และแรงกดดันจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเนื้อหาสาระ

ส่วนความคาดหวังเขาเปิดเผยว่า กรธ.อภิปรายเป้าหมายว่า อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ไม่ควรให้บุคคลใดมาตำหนิได้ว่า ผู้ร่างเข้ามาทำให้เป็นรูปเป็นร่างพอเป็นพิธีเท่านั้น

"แต่ต้องการให้เป็นที่กล่าวขวัญว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แสดงถึงความมีเหตุมีผลของผู้ยกร่าง"

อุดม ยังเชิดชูเนื้อหาที่ภูมิใจว่า การเลือกตั้งจะไม่ใช่เพียงพิธีกรรม แต่เป็นสถาบันทางการเมืองซึ่งสะท้อนเสียงที่แท้จริงของประชาชน และการกำหนดหมวดปฏิรูปนับเป็นนวัตกรรมที่สำคัญ

เหล่านี้คือบันทึกความในใจของบรรดาผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จนนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้แก้กติการัฐธรรมนูญของ ‘มีชัย’ อยู่ในขณะนี้

และยังต้องลุ้นอีกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ทำคลอดโดย ‘มีชัย’ นั้นจะถูกแก้ไขเปิดทางให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่ หลังรัฐสภาได้รับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง