ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนขอ ขสมก. ทำเส้นทาง 'ปอ. 515 ขึ้นทางด่วน' อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังเสียงตอบรับดี ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีกระแสการร้องเรียนความไม่สะดวกสบายของผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก เมื่อรถเมล์ ปอ. 515 มีการทดลองวิ่งบนเส้นทางทางด่วนดังกล่าว

ซึ่งทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็ออกมาชี้แจงว่า ตามปกติแล้วเส้นทางการเดินรถของรถเมล์ ปอ. 515 จะออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตรงผ่านแยกการเรือนยาวไปขึ้นสะพานซังฮี้ไปออกถนนบรมราชชนนี ก่อนจะไปสุดสายที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลศาลายา 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วน การจราจรบริเวณแยกการเรือนไปจนถึงบริเวณสะพายซังฮี้จะมีความหนาแน่นและมีการติดขัดสูง จึงเปิดเส้นทางทดลองเดินรถเพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด โดยใช้ทางพิเศษศรีรัช ด่านคลองประปา 1 ถนนพระราม 6 ��่อด้วยทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกที่ด่านบางซื่อ 1 ลงที่ด่านบางบำหรุ ถนนสิรินธร ไปตามเส้นทางปกติ

นายกฤติเดช สุวรรณบุตร คนขับรถเมล์ ปอ. 515 ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า การวิ่งรถบนทางด่วนของรถเมล์ไม่น่าจะสร้างความลำบากหรือความไม่สะดวกให้กับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ เนื่องจากมีกฎข้อบังคับให้ขับชิดซ้ายตลอดยกเว้นเวลาจะแซง พร้อมเสริมว่า การร้องเรียนที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มาจากรถยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนนแต่เป็นกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์จากการที่ ขสมก. มาวิ่งรถในเส้นทางนี้



รถเมล์สาย515
"คนที่เขาร้องเรียนอะไรแบบนี้ ผมว่าไม่ใช่รถทั่วๆไป แต่เป็นพวกที่มีส่วนผูกพันเกี่ยวกับการเดินรถ " กฤติเดช กล่าว

คุณภาพชีวิตและเส้นทางการเดินรถ

เสียงสะท้อนของประชาชนบนรถเมล์ ปอ. 515 คือการทวงถามคุณภาพชีวิตของพวกเขาที่ต้องเสียไปกับการนั่งรถเมล์ที่ติดเป็นประจำกว่า 2-3 ชั่วโมงในบางครั้ง

'สุกฤตยา แก่นสาร' นักศึกษาที่ต้องขึ้นรถเมล์กลับหอเป็นประจำทุกวัน กล่าวว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางกลับหอสั้นลงมากเมื่อมีเส้นทางทดลองขึ้นทางด่วน 



รถเมล์
"ถ้าเวลาวันไหนที่ได้ยืน ยิ่งหนักค่ะ มันจะปวดและเหนื่อย แต่ว่าหนูนั่งอันนี้แค่ 30 - 40 นาที ก็ถึงหอแล้ว" สุกฤตยา กล่าว

ขณะที่ผู้โดยสารบางคน ถึงกับท้อใจที่จนไม่อยากขึ้นรถกลับบ้านก็มี เพราะทราบว่าต้องเผชิญกับภาวะรถติดหนักที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ปัญหาได้

"ติดจนไม่อยากขึ้น ติดตั้งแต่ตรงแยกวังสวนจิตรไปจนถึงแยกการเรือน ซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้" มณฑิณี เลี้ยงถนอม กล่าว

สำหรับเส้นทางการเดินรถนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนที่อยากส่งไปถึง ขสมก. และกรมการขนส่งทางบก คือการทำให้เส้นทางเดินรถนี้ถูกกฎหมายและเป็นทางการ เพราะคุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะ เวลา 2 - 3 ชั่วโมง ที่เคยต้องเสียไปบนการจราจรที่ติดขัดและรถเมล์ที่หนาแน่น สั้นลงมาเหลือเพียง 30 - 40 นาที

ทั้งนี้ นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า รถเมล์สาย 515 จะวิ่งบนทางด่วนต่อไป เนื่องจากได้หารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)แล้วโดยชี้แจงว่าเป็นความต้องการของประชาชนซึ่งทาง ขบ.ก็ไม่ได้ขัดข้อง และไม่ได้สั่งให้หยุดเดินรถ แต่ขอให้ ขสมก.ยื่นเงื่อนไขปรับปรุงการเดินรถมาให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นายประยูร ระบุด้วยว่า ในการเปิดทดลองให้บริการ ได้รับการตอบรับดีอย่างมาก มีผู้โดยสาร 600-700 คนต่อวัน เพราะประหยัดเวลาการเดินทางจากศาลายาไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจาก 2 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง เท่านั้น

ล่าสุด นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยเมื่อเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าการทดลองเดินรถดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่เมื่อมีการทดลองและได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น ทำให้เห็นว่าประชาชนได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็วในการเดินทางจากชานเมืองเข้าเมือง

ดังนั้น ทางขนส่งทางบกจึงตระหนักถึงความเร่งด่วน ในการบรรเทาสถานการณ์การเดินทางของประชาชนให้ได้รับความสะดวก จึงประชุมด่วนร่วมกับ ขสมก. โดยมีข้อสรุป คือ กรมการขนส่งทางบกจะใช้อำนาจนายทะเบียนตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 สั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยว ของเส้นทางการเดินรถสายที่ 515 โดยให้มีช่วงเดินรถบนทางด่วน จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นการชั่วคราว เพื่อให้สามารถเดินรถสายที่ 515 เส้นทางด่วนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่ใช้บริการในเส้นทางดังกล่าว

ส่วนการปรับปรุงเส้นทางในระยะยาวอย่างยั่งยืน กรมการขนส่งทางบกอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 269 เส้นทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการขนส่ง ครอบคลุมทั่วถึง ลดการทับซ้อนเส้นทาง เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ ตลอดจนรองรับการพัฒนาเมือง ชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชนอย่างสูงสุด ด้วยคุณภาพและมาตรฐานการบริการที่ดี

คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไม่ใช่เรื่องสวยหรูอยู่บนอากาศ แต่คือการเดินทางไปทำงานและกลับบ้านอย่างสะดวกสบาย หลังใช้เวลาทั้งวันไปกับการทำมาหากิน คงไม่มีประชาชนคนไหนอยากจะลุกขึ้นมาต่อสู้แย่งชิงกันเพื่อไม่ต้องยืนโหนราวจับ 2 - 3 ชั่วโมง บนถนนที่รถติดจนหมดกำลังใจ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: