กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจาก ‘การล็อคดาวน์อันยิ่งใหญ่’ (Great Lockdown) โดยชี้ว่าอาจเป็นการหดตัวที่แย่ที่สุดในรอบเกือบ 100 ปีของโลก และยังเตือนว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่จบอย่างรวดเร็วหรือมีการกลับมาแพร่ระบาดระลอกที่สองหรือสาม โลกจะเจอปัญหาสาหัสกว่าที่ประเมินในตอนนี้แน่นอน
‘กิตา โกปิเนธ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่า กองทุนฯ ประเมินตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (จีดีพี) ในปี 2563 ไว้ที่ติดลบร้อยละ 3 ซึ่งเป็นการปรับลดค่าประมาณลงมาถึงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับตัวเลขที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้ “ย้ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สมัยของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depressiom) และแย่กว่าวิกฤตการเงินไปมากแล้ว”
นอกจากนี้ ถึงแม้ไอเอ็มเอฟ จะประเมินตัวเลขจีดีพีของปี 2564 ไว้สูงถึงร้อยละ 5.8 แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการคาดการณ์เดิมก่อนที่จะมีวิกฤตโรคระบาดอยู่มาก อีกทั้งความเสี่ยงก็ยังมีอยู่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมิติที่สัมพันธ์กับการแพร่ระบาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความตึงเครียดในตลาดสินค้าและตลาดการเงิน
เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ผลกระทบในเชิงมูลค่าท่ามกลางการแพร่ระบาดในช่วงปี 2563 - 2564 มีทั้งสิ้น 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 293 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าเศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวิเคราะห์ตัวเลขลงไปยังรายภูมิภาค ‘กิตา’ กล่าวว่า ในกรณีพื้นฐานทั่วไป ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วผลกระทบครั้งนี้จะทำให้มองเห็นจีดีพีติดลบถึงร้อยละ 6 ขณะที่ในฝั่งประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ จะมีจีดีพีหดตัวติดลบร้อยละ 1 และอาจติดลบถึงร้อยละ 2.2 หากตัดจีนออกไป อีกทั้ง รายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศมากกว่า 170 ประเทศจะลดลง
หากการแพร่ระบาดยังไม่จบภายในไตรมาสที่ 2/2563 และมาตรการล็อคดาวน์ยังต้องบังคับใช้ต่อไป สถานการณ์จะเลวร้ายลงอย่างหนัก จีดีพีของโลกจะลดลงอีกร้อยละ 3 หรือกลายเป็นการติดลบร้อยละ 6 ในปีนี้ และถ้าการแพร่ระบาดมีไปถึงปีหน้า จีดีพีโลกจะลดลงอีกร้อยละ 8 จากฐานในกรณีทั่วไป หรือคิดเป็นการติดลบร้อยละ 2.2
‘กิตา’ ชี้ว่า เมื่อมองในมาตรการที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะทำได้ ก็ยังต้องเน้นความสำคัญที่สุดไปที่การควบคุมการแพร่ระบาดและใช้ประโยชน์จากมาตรการล็อคดาวน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถจัดการกับโรคระบาดในระยะนี้ และเมื่อโลกมีวัคซีนแล้วการเข้าถึงก็ต้องเกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมทั้งในประเทศที่ร่ำรวยและยากจน
“มันไม่ใช่การแลกกันว่าจะรักษาชีวิตหรือรักษาการดำรงชีวิต” กิตากล่าว
ขณะเดียวกัน เหล่าผู้กำหนดนโยบายก็ต้องเร่งจัดสรรมาตรการที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในวิกฤตนี้และเตรียมพร้อมโอบอุ้มธุรกิจในยามที่เศรษฐกิจกลับมาดำเนินการเป็นปกติอีกครั้งเมื่อโรคระบาดผ่านไป
มาตรการทางการเงิน ทางการคลัง รวมถึงนโยบายสำหรับตลาดการเงินถูกหยิบมาใช้แล้วในหลายประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเพราะเป็นตัวช่วยเดียวของทั้งครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจต่างๆ รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนรวมถึงเอกชนมีรอยแผลให้น้อยที่สุด ไล่ตั้งแต่การตกงานไปจนถึงตลาดเงินตลาดทุน
ไอเอ็มเอฟยังย้ำถึงบทบาทในการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการสาธารณสุขของประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ และชี้ว่าฝั่งกองทุนฯ เองได้ตั้งงบประมารกู้ยืมสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32.5 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนประเทศที่มีความเปราะบางแล้ว
ท้ายที่สุด ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าแสงแห่งความหวังถึงการสิ้นสุดเรื่องนี้ยังมีให้เห็นได้บ้าง หลายประเทศก็เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้แล้วผ่านการเว้นระยะห่างทางสังคม การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงความหวังที่วัคซีนและยารักษาจะผลิตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในระหว่างที่ทุกอย่างยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนั้น นโยบายต่างๆ ต้องกว้างขวาง ใช้งานได้เร็ว และใช้งานได้จริง และย้ำอีกครั้งว่า “ผู้กำหนดนโยบายต้องทำงานให้ได้ดีเท่าที่แพทย์และพยาบาลทั่วโลกทำในการรักษาผู้ป่วย”