ไม่พบผลการค้นหา
ครม. อนุมัติ 18,447 ล้านบาท สำหรับ สปสช.ใช้จ่ายโควิด พร้อมอนุมัติหลักการมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ถอนฟ้อง พร้อมคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 28,345 ราย วงเงิน 245 ล้าน

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องที่หน่วยบริการ/สถานพยาบาลให้บริการแล้วระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2565 วงเงิน 18,447.9800 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขไวรัสโควิด-19 ทั้งในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีนและการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ


เคาะถอนฟ้อง-คืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วงเงิน 245 ล้าน

อนุชา แถลงว่ามติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และได้นำเงินมาคืนให้ทางราชการ รวมทั้งแจ้งให้มีการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 สิงหาคม 2565) 

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และการจ่ายเงินเบี้ยงยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการคืออายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของ กผส. นั้น ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

ระหว่างนี้ พม. ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวต่อไป

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. การคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนราชการแล้วจำนวน 28,345 ราย นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน และสมควรที่จะต้องรีบดำเนินการ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ผู้สูงอายุเสียชีวิต และการร้องเรียนต่างๆ เป็นต้น


อนุมัติกว่า 2.9 พันล้าน หนุนใช้รถยนต์-จยย.ไฟฟ้า

อนุชา แถลงว่ามติคณะรัฐมนตรี อนุมัติ 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ดังนี้

กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

  1.1) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 บาท/คัน 

  1.2) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

2) กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

3) กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จำนวนเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน

ส่วนผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการจะต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ รวมทั้งนำส่งรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป  อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้

โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน โดยแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้น ทั้งยัง เป็นการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งเงินอุดหนุนและส่วนลดทางภาษีต่าง ๆ ตกสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผลักดันให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV และชิ้นส่วนรถยานยนต์ EV ในภูมิภาคด้วย