ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯเศรษฐา ประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ที่สภาฯวันนี้ (20 มิ.ย.2567) ย้ำ ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ

นายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำและพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ ณ ห้องรับรองคณะรัฐมนตรี ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันนี้ (20 มิถุนายน 2567)

เศรษฐา

ภายหลังการประชุม นายกฯเศรษฐา ได้เผยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า 

'การทำงานอย่างเป็นเอกภาพสำคัญที่สุดในการรับมือหน้าฝน ปีนี้ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ 

ภาครัฐทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่วนผมเองก็ได้ลงพื้นที่ พร้อมทั้งประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ ผมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ นำบทเรียนจากปีที่แล้วมาปรับปรุงการทำงานในปีนี้ เพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ การดูแลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และพื้นที่เศรษฐกิจอย่างเข้มข้น เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ เคลียร์สิ่งกีดขวางทางน้ำ ตรวจเช็คความแข็งแรงของอาคารชลประทาน คั้นกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และเตรียมแผนที่จะดูแลพื้นที่เกษตรกรรม และการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้วยครับ'

ธรรมนัส

โดย นายกฯเศรษฐา ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รองรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้

1) การเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์น้ำ

(1.1) เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำ และพื้นที่ทุ่งนาน้ำ

(1.2) พื้นที่ลุ่มต่ำ จุดเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องระบายให้รวดเร็ว เพราะจะเกิดน้ำเน่าในพื้นที่ท่วมขัง

(1.3) พื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชนเมือง ต้องป้องกันน้ำเข้า หากเกิดน้ำไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน

(1.4) ต้องมีแผนเร่งระบายน้ำ หน่วยงานต้องมาร่วมกันดูแลอย่างเป็นเอกภาพ วางแผนและดำเนินการที่ดี

(1.5) สิ่งกีดขวางทางน้ำ ต้องเร่งเคลียร์ทางน้ำก่อนที่น้ำจะมา เช่น ผักตบชวา วัชพืช ความตื้นเขิน ซึ่งตรงนี้ทางกองทัพมีศักยภาพสูงที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

(1.6) ตรวจเช็คความแข็งแรงของอาคารชลประทาน คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ

2) การเตือนภัย กรมอุตุฯ แจ้งพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัย ต้องชัดเจน แม่นยำ

3) ประมาณการพื้นที่เกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน เพราะส่งผลกระทบมากต่อผลผลิต ราคา และความเดือดร้อนของเกษตรกร

4) แผนการดูแลและช่วยเหลือประชาชนหากมีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น เช่น การอพยพ พื้นที่พักอาศัยชั่วคราว เวชภัณฑ์ เรือ เป็นต้น ทั้งนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ผ่านมาซึ่งปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติซึ่งต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย โดยขอให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างมีเอกภาพ และมีการประสานงานกันให้ดี

ประชุมน้ำท่วมเศรษฐา