นายคฑาวุธ ทองไทย หรือ 'อาจารย์ไข่' นักร้องนำและนักแต่งเพลงวงมาลีฮวนน่า ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงความนิยมของเพลงเพื่อชีวิตในประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ตนอยากให้ถอดกรอบคำว่า 'เพื่อชีวิต' ออก แล้วมองในมุมของคนทำงานศิลปะ ว่าแท้จริงแล้วเพื่อชีวิตเป็นเพียงแค่ยุคหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงของจิตร ภูมิศักดิ์ เกิดงานศิลปะเพื่อประชาชนเพื่อชีวิต เป็นยุคสมัยหนึ่งที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องทางการเมือง ทำให้เกิดวงคาราวาน วงกงล้อ วงโคมฉาย วงคาราบาว และอีกมากมายตามมา และด้วยเหตุผลของยุคสมัยเช่นกันที่ทำให้เพลงของวงคาราวานโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง เช่นเดียวกับเพลงเมดอินไทยแลนด์ของวงคาราบาวที่โด่งดังในช่วงเวลาที่มีการเรียกร้องค่านิยมของความเป็นไทย สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
“ถ้ามองเพลงในด้านศิลปะ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชนชั้น มีนิ้วไม่เท่ากัน มีคนรวยคนจน มีรักโลภโกรธหลง ตราบนั้นการสร้างสรรค์งานศิลปะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ยุคสมัยจะให้มันเหมือนซ้ำๆ เป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามกาลเวลา ทุกวันนี้ฟิล์มม้วนไม่มีแล้ว ต้องใช้ซิม แต่ทุกวันนี้คนถ่ายรูปยังมีเยอะ เป้าหมายสุดท้ายคือต้องการภาพ โดยวิธีการไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม” อาจารย์ไข่กล่าวเปรียบเทียบ
อาจารย์ไข่เล่าต่อว่า สำหรับวงมาลีฮวนน่าเอง การเขียนเพลงจะมองเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลงของมนุษย์ จากข้างในเป็นหลัก ไม่ได้บอกถึงบุคคลที่สาม แม้ทุกวันนี้เพลงเพื่อชีวิตที่เป็นที่นิยมจะเป็นเพลงดังในอดีต แทบจะไม่มีเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นมาแล้วโด่งดังเท่าเก่า อาจารย์ไข่แสดงความคิดเห็นว่าศิลปะไม่มีนิยาม มันต้องใช้เวลาในการฟักตัวของความคิด ตอนนี้มีเพลงอินดี้อีสาน มีวงรัศมีโซล ที่เป็นที่นิยม ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายระหว่างเก่ากับใหม่ "ต้องให้เวลากับมันนิดนึง"
เป็นเพราะหลายวงเปลี่ยนจุดยืนไปจากเดิมคืออยู่ข้างมวลชนไปอยู่ข้างนายทุนหรือไม่?
อาจารย์ไข่ตอบว่าเมื่อก่อนนายทุนมาพร้อมกับลูกน้องปืน ทุกวันนี้นายทุนมาพร้อมกับสินเชื่อบนเสาไฟฟ้า เครดิตการ์ด สุดท้ายก็เราเป็นหนี้เหมือนกัน แต่นายทุนเขาเอาเปรียบด้วยดอกเบี้ยในอีกวิธีการหนึ่ง ทุกอย่างเป็นเรื่องราวเหมือนกัน แต่รูปแบบเปลี่ยนไป ดังนั้นหากจะมีการเปลี่ยนแปลงของวงดนตรี ตนก็เห็นว่าไม่เป็นไร พร้อมยกคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ว่า "ในงานศิลปะหลายชิ้น ถ้ามีสักชิ้นที่ทำให้เรายิ้ม หรือปิติ เท่านั้นก็พอ"
เมื่อถามถึงวิธีการปรับตัวของวงมาลีฮวนน่าในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป อาจารย์ไข่อธิบายว่า ศิลปะในแต่ละยุคสมัยอาจจะสั้นหรือยาวไม่เท่ากัน แต่ดนตรีก็ยังมีโน๊ต 7 ตัว เรื่องราวก็ยังเหมือนเดิมทั้ง รัก โลภ โกรธ หลง ไม่เปลี่ยน คนร้องไห้ก็มีน้ำตา ดีใจมีเสียงหัวเราะ ตราบนั้นมาลีฮวนน่าก็ยังมีเรื่องราวและแรงบันดาลใจ แต่การจะเขียนเพลงขึ้นมาวิธีอย่างไรเป็นเรื่องราวของการใช้สื่อ มาลีฮวนน่าเองไม่สามารถที่จะวิจารณ์ตัวเองได้ หรือไม่รู้กลุ่มคนฟังเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คิดไว้เสมอ อาจารย์ไข่กล่าวย้ำว่า "สิ่งที่กลัวที่สุดในชีวิตคือกลัวหมดไฟ กลัวหมดแรงบันดาลใจ กลัวทำทักษะซ้ำๆ แล้วเกิดเป็นความเคยชิน กลัวที่สุด แล้วสิ่งที่ต้องการคืออยากหาความคิดใหม่ๆ ตัวเองเป็นคนเปิด รับฟังหมด แล้วค่อยเอามากรอง ไม่อยากเป็นน้ำเต็มแก้วแล้วคว่ำแก้ว"
อาจารย์ไข่ กล่าวต่อว่า ตนต้องหาความคิดสร้างสรรค์จากรอบ���้าง จากตัวเองบ้าง จากการอ่านหนังสือ ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เพื่ออ่านดูว่าคนหนุ่มคนสาวในอดีตเขาคิดอะไร คนหนุ่มคนสาวในปัจจุบันเขาคิดอะไร หรือว่าอยู่เมืองนานมันจำเจกับสิ่งแวดล้อม ก็ลองกลับไปหาชาวนา ดินหญ้าในต่างจังหวัด เพื่อให้แรงบันดาลใจกับตน ลองเปลี่ยนจากที่ซ้ำๆ ไปที่ใหม่อาจทำให้มีวิธีคิดที่ดีขึ้น เวลาตนไปไหนมีพี่น้องที่ทำงานศิลปะก็จะไปหาไปคุย บางทีคำพูดคำพูดเดียว หรือหนังสือเพียงย่อหน้าเดียว หรือดูทีวีสักช่องนิดเดียวก็จะให้ความรู้สึก หรือเกิดความคิดได้
เช่นเดียวกับการจัดคอนเสิร์ตเอ็กซ์คลูซีฟในปีนีิ้ แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ตนก็พยายามหาแนวคิดใหม่ๆ มาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหนังตะลุงจากคณะหนังตะลุงเด็ก โรงเรียนวัดปากควน จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งชวนรุ่นน้องในวงการเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตอย่าง 'บิว-กัลยาณี' ที่อาจารย์ไข่ยืนยันว่าเป็นนักร้องหญิงที่เสียงเพราะที่สุดคนหนึ่งในประเทศมาร่วมคอนเสิร์ตด้วย ซึ่งบิวเปิดเผยว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะต้องรวมวงอีกครั้งหลังจากยุบไปกว่า 10 ปี ซึ่งจะนำทั้งเพลงใหม่ที่เป็นที่นิยมและเพลงเก่าที่เคยโด่งดังและทำให้ตนแจ้งเกิดกลับมาร้องด้วย
คอนเสิร์ตจะจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ ใช้ชื่อว่า ‘มาลีฮวนน่า เอ็กซ์คลูซีฟ 4 ย้อนเงาสีสรรตะลุงเท่’ ที่สิลปะสถานโฮมปาร์ค หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่เวลา 18.00 น. จนถึงเวลาตี 3 ของวันที่ 6 พฤษภาคม พร้อมกับกิจกรรมร่วมกับแฟนคลับในเวลากลางวัน อาทิ การสอนถ่ายรูป การมัดย้อมผ้า การแข่งขันกีฬา และการแสดงจากคณะหนังตะลุงเด็ก ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่บริษัท มาลีฮวนน่า อาร์ต เรคคอร์ด จำกัด หรือ เฟซบุ๊ก Maleehuanaofficial โทร. 0853734616