ไม่พบผลการค้นหา
ชาวประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล พ่อค้าแม่ค้ารถเร่ชายหาด และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว จ.ระยองหลายร้อยคน เดินหน้ายื่นฟ้องบริษัท SPRC และ PTTGC ให้ฟื้นฟูทะเลระยองจากเหตุน้ำมันรั่วต้นปี 2565

เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.2566) ชาวประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล พ่อค้าแม่ค้ารถเร่ชายหาด และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว รวม 832 ราย ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง พร้อมด้วยทีมทนายความจาก Rising Sun Law ได้ยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นจำเลยที่ 2 จากกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลระยองอย่างต่อเนื่องกว่า 400,000 ลิตร จากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SINGLE POINT MOORING SYSTEM) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 โดยมีรายละเอียดคำฟ้องโดยสรุปคือ

SPRC และ PTTGC จำเลยทั้งสอง เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐให้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในการทำกิจการจะต้องขนถ่ายน้ำมันดิบจากทุ่นรับน้ำมันกลางทะเลเพื่อทำหน้าที่ลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบที่ขนส่งมาโดยเรือบรรทุกน้ำมันผ่านระบบทุ่นรับน้ำมันและระบบท่อขนส่งน้ำมันเข้าสู่คลังเก็บน้ำมันของ SPRC และ PTTGC ซึ่งทั้งสองเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมัน เครื่องจักรบางส่วน และทุ่นรับน้ำมันร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทุ่นรับน้ำมันเป็นการลงทุนร่วมกันฝ่ายละครึ่งหนึ่งและมีข้อตกลงในเรื่องของการผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้บริหารกิจการร่วมกันดังกล่าวนี้ฝ่ายละ 5 ปี ดังนั้น ในฐานะของเจ้าของร่วมในทุ่นรับน้ำมันและอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบ SPRC และ PTTGC จึงมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบ ดูแล บำรุงรักษา ทุ่นรับน้ำมันและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบท่อและวาล์วควบคุมน้ำมันให้อยู่ในสภาพดี ป้องกันไม่ให้ชำรุดหรือเกิดความบกพร่องจนอาจเกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของน้ำมันดิบปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก โดยจะต้องใช้ความระมัดระวังดูแลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ และมาตรฐานของคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรฐานของการขนส่งน้ำมันทางทะเล ตลอดจนเป็นไปตามข้อกำหนดของรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลระยองเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล โจทก์ทั้ง 832 ราย จึงยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ SPRC และ PTTGC รับผิดชอบใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษของคราบน้ำมันดิบและสารเคมี ด้วยการเก็บกู้ตะกอนสารพิษที่เกิดจากการรวมตัวของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ตกค้างในบริเวณที่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลและบริเวณใกล้เคียง ตลอดแนวชายหาดและป่าชายเลน รวมทั้งที่ตกค้างสะสมอยู่ในจุดที่เป็นแหล่งอาศัย แหล่งแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ด้วยกระบวนการหารือและกำกับดูร่วมกันระหว่างโจทก์ จำเลย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

2. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งในจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อมอบให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่กำจัดมลพิษ และฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลร่วมกับโจทก์ และชุมชนประมงชายฝั่ง เพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวระยอง ที่มีโจทก์ จำเลยทั้งสอง และหน่วยงานราชการร่วมกันบริหารจัดการ ทำการฟื้นฟูทะเล จนกว่าระบบนิเวศทางทะเลจะกลับมาให้บริการทางอาหารและการนันทนาการได้ในภาวะปกติก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่วในปี 2556

3. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลให้แก่โจทก์ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ต้องขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ รวม 246,343,799 บาท

โดยในวันนี้ (24 ม.ค.2565) ศาลจังหวัดระยองได้มีคำสั่งรับฟ้อง และเนื่องจากการยื่นฟ้องในคดีนี้มีการเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ที่ฟ้องคดีจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลต่อศาล โดยในคดีนี้โจทก์ได้มีการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลด้วย แต่ศาลได้มีคำสั่งยกร้อง ไม่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ขั้นตอนภายหลังจากนี้ คือ นัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 14 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. และนัดสืบพยานในวันที่ 8 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.