ตามที่ปรากฏเป็นข่าว นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับกรณีการตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.บริเวณพื้นที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยเตรียมลงพื้นที่ในวันที่ 18 - 19 ก.พ. 2568 พร้อมกับกรมที่ดิน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียด หากพบการกระทำความผิดจะเข้าสู่ขั้นตอนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ นั้น
กรมที่ดิน ขอเรียนว่า ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานแจ้งอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่ลงพื้นที่ตรวจสอบในการลงพื้นที่ และกรมที่ดินยังไม่ได้มีการชี้แจงหรือให้ข้อมูลใด ๆ กับสื่อมวลชนในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และเนื่องจากในพื้นที่ที่อ้างถึงเป็นการออกโฉนดที่ดินจากหลักฐาน น.ค.3 ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกสืบเนื่องจาก น.ค.1 ซึ่งเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง
โดยกรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จะเป็นผู้ออกให้กับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกนิคมตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งหากจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ ทาง ส.ป.ก. จะต้องร่วมตรวจสอบกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ในส่วนกรมที่ดิน ขอยืนยันว่าการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว กรมที่ดินได้ดำเนินตามขั้นตอน ของระเบียบฯ และกฎหมาย ณ ช่วงเวลานั้นที่ต้องดำเนินการโดยครบถ้วนถูกต้องแล้ว
ผลการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน
การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินยังไม่มีผลให้ ส.ป.ก. ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินจนกว่า ส.ป.ก. มีความประสงค์จะนำที่ดินมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินและในกรณีที่เป็นที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. ต้องดำเนินการตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (1),(2),(3) หรือ (4) หรือ หากจะนำที่ดินของเอกชนมาดำเนินการ ก็ต้องจัดซื้อหรือเวนคืนตามมาตรา 29 เสียก่อน ส.ป.ก. จึงจะนำที่ดินนั้นมาดำเนินการการปฏิรูปที่ดิน
การออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นที่ดินที่มีการสงวนหวงห้ามและต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2597 ข้อ 14 (4) และคณะกรรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 781/2535 และเรื่องเสร็จที่ 207/2537 ว่าเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับไม่ได้ ถ้าราษฎรดังกล่าวไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือมิได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ดังนั้น เจ้าของที่ดินที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและมีหลักฐานเดิมอยู่ก่อนการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินมีหน้าที่ต้องพิสูจน์สิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน และการออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ฯ ข้อ 14 ที่ดินจะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย
ปัจจุบันการออกโฉนดที่ดินนอกจากต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องถือปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2558
กรมที่ดิน ให้ความกระจ่าง ที่ดินที่เป็น น.ค.๓ สามารถออกเป็นโฉนดที่ดินได้หรือไม่
น.ค.๓ เป็นเอกสารที่ออกสืบเนื่องจาก น.ค.๑ ซึ่งเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง โดยกรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จะเป็นผู้ออกให้กับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกนิคมตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ต่อมาเมื่อสมาชิกของนิคมได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า ๕ ปี ได้ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐบาลได้ลงไปแล้ว และชำระหนี้สินเกี่ยวกับกิจการนิคมให้ทางราชการแล้ว ก็จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) เป็นหลักฐาน สมาชิกนิคมสร้างตนเองที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓)
มาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ บัญญัติให้สามารถนำหลักฐานดังกล่าวขอโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ถ้าเป็นการขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามมาตรา ๕๙
แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินส่วนแยก ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ ถ้าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘ ทวิ วรรคสอง (๑) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดำเนินการเดินสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง และได้เข้าไปทำการสำรวจรังวัดถึงที่ดินของผู้ใด หากผู้นั้นมีหลักฐาน น.ค.๓ ก็สามารถนำ น.ค.๓ เป็นหลักฐานในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินได้
โฉนดที่ดินที่ได้ออกจากหลักฐาน น.ค.๓ จะถูกกำหนดห้ามโอน ๕ ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน เว้นแต่ตกทอด
ทางมรดก และในกำหนดเวลาห้ามโอนนี้ที่ดินไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ทั้งนี้ การออกโฉนดที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง ผู้ปกครองนิคมต้องร่วมพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ด้วย