ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” ด.ญ.วัย 3 ขวบ ที่หายจากบ้านไปที่ จ.มุกดาหาร ท้ายที่สุดพบว่าเสียชีวิต นานหลายเดือนแล้ว ยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ แต่สิ่งที่เป็นผลพวงจากข่าวคือ หนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องกลายเป็นที่รู้จักของสังคมและได้รับความนิยม จนนำมาสู่การรับงานต่างๆ ในด้านความบันเทิง คำถามก็คือเรื่องดังกล่าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อกรณี ไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล แห่งบ้านกกกอก จ.มุกดาหาร ว่า การทำข่าวอาชญากรรมให้เป็นเรื่องสีสัน ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้พูดถึงเป็นอย่างมากเหมือนข่าวลุงพล ซึ่งในต่างประเทศมีการศึกษากันถึงเรื่องนี้อยู่ว่าข่าวอาชญากรรมขยายเป็นเรื่องดรามา เป็นซีรีย์ เป็นการขยายเรื่องต่อเนื่องแตกประเด็น แต่จริงๆ แล้วในแง่คุณค่าข่าวมีมากเพียงพอหรือไม่ ในบางประเด็นถูกตั้งคำถามว่ามีผลต่อสังคมหรือไม่

ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าวว่า กรณีนี้มีเรื่องของการตลาดเข้ามาผูกโยง กลายเป็นข่าวคอนเทนต์ ที่มีเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นเรื่องของกระแสดรามา ทำข่าวให้เป็นละคร ทำข่าวแบบโอเวอร์ดรามา ทำข่าวแบบละครอาชญากรรม (Thai drama sensation) ทำให้เกิดสีสัน ความสะเทือนใจของอารมณ์และตัวบุคคล เป็นที่สนใจคนจำนวนมากและยิ่งนำเสนอผ่านสื่อโซเชียล จึงขยายผลได้ง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่นำเสนอผ่านแต่สื่อหลักมีจำนวนไม่มาก   

“ในแง่การทำงานของสื่อที่ถูกมองว่ามากเกินไปรึป่าว เพราะต้องแข่งขันกันว่าใครได้มุมที่เด็ดกว่ากัน ดรามากว่ากัน คือการแข่งขันทางการตลาด ทำให้คุณภาพบทบาทของสื่อตามอุดมคติลดลง การสะท้อนความสำคัญจริงๆ ลดลง ความรุนแรงถูกละเลยไป” ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าว

ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าวว่า เรตติ้งเป็นอีกจุดสำคัญ ที่ทำให้สื่อต้องแข่งขัน เพราะต้องยอมรับว่ารายได้โฆษณามาจากเรตติ้ง เมื่ออยากให้โฆษณาเข้ามา จึงแข่งขันสร้างคอนเทนต์ ที่สร้างคนดูคนติดตามให้ได้ยอดมากที่สุด เพราะเรตติ้งถือเป็นสินค้าของสื่อ ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ถือว่าเป็นการแข่งขันกันไปสู่จุดตกต่ำ อย่างไรก็ตามตัวแปรที่ทำให้ต้องสร้างเรตติ้งเชิงปริมาณ ต้องโทษมาตั้งแต่โครงสร้างระบบโฆษณา และเมื่อมีทีวีดิจิทัล มีจำนวนช่องมากขึ้นยิ่งต้องแข่งกันหาโฆษณาหารายได้ที่มีจำกัด กลายเป็นปัญหาแบบเป็นวงจร

“อยากให้สื่อถอยมาคิดเหมือนกัน เพราะว่าจะมุ่งหวังเรตติ้งรายได้เอาตัวรอดอย่างเดียว คงเกิดผลกระทบต่อสังคม เพราะสังคมไม่ได้มีเรื่องนี้เรื่องเดียว ที่ต้องนำเสนอ อยากให้ถอยกลับมาคิดนำเสนอในกรอบที่พอดี อย่าลืมอุดมการณ์ในมายาคติ อย่ามากเกินไป สีสันของข่าวและเอนเตอร์เทนเมนต์มีได้แต่ให้เหมาะสม เพราะผลในระยะยาวอาจทำให้ค่านิยมของสังคมบิดเบี้ยวไป เพราะอย่าลืมว่าต้นเรื่องนี้มาจากอะไร ขณะนี้ยังไม่ได้มีคำตอบ การทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ อาจทำให้เกิดการเลียนแบบ ส่วนตัวผู้ที่อยู่ในข่าวเอง อย่าลืมว่าในโลกโซเชียลจะมีเรื่องนี้อยู่ต่อไปอีกนาน ถือเป็นดาบสองคม เพราะอาจจะมีผลทั้งทางบวกและลบ เราไม่รู้เลยว่าอนาคตเป็นอย่างไร เรื่องนี้เหมือนเป็นการสร้างคนทำให้เป็นสินค้า เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะดังขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าว

อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ ธรรมศาสตร์ นักสื่อสาร