ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ในการลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ และสิ่งของจำเป็นให้กับพี่น้องประชาชน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.จังหวัดขอนแก่นพรรคเพื่อไทย นายโกศล ปัทมะ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย นายสุปชัย อินทรักษา อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย นายรชตะ ด่านกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย รวมถึงนายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน อดีตส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการระบาด ของไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกันยังได้ แจกจ่ายถุงยังชีพ รวมถึงเปิดจุดบริการอาหาร ให้กับประชาชน พร้อมสอบถามถึงความทุกข์ยาก และความเดือดร้อน ซึ่งประชาชนหลายคนกังวลว่าอาจเกิดปัญหาการเยียวยาเกษตรกรไม่ครบถ้วนทั่วถึง
ผู้ที่เป็นเกษตรกรและได้รับความเดือดร้อน กลับขาดคุณสมบัติ โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งไม่มีที่ไร่ ที่นาเป็นของตนเอง และส่วนใหญ่ ทำไร่ทำนา โดยการเช่า จากเจ้าของที่หรือนายทุน ซึ่งไม่ได้ทำเอกสารการเช่า ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดจึงทำให้เกษตรกรจำนวนมาก ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐ รวมถึงการสร้างเงื่อนไขที่บังคับให้พี่น้องเกษตรกรต้องลงทะเบียนเกษตรกรใหม่เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูล ถือเป็นการเพิ่มภาระและสร้างความยากลำบากให้กับประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนในเวลานี้
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่าการเยียวยาต้องทั่วถึงและครอบคลุมเกษตรกรทุกครัวเรือน ไม่ควรมีข้อแม้ กับเกษตรกร โดยเฉพาะ ในกลุ่มซึ่งไม่มีที่นาและต้องเช่าเพื่อทำการเกษตร ที่สำคัญคือวิธีการยุ่งยาก ล่าช้า ทั้งที่ภาครัฐมีทะเบียนคนจน คนตกงาน และทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่กลับให้ประชาชนต้องไปขึ้นทะเบียนใหม่ ด้วยความลำบาก ทั้งที่เขาได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐ
นอกจากนั้นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินออมของเขาเองก็จ่ายล่าช้า ซึ่งกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ที่ ส.ส.จิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นประธานกรรมาธิการ กำลังตรวจสอบว่า ได้นำเงินออมของประชาชนไปใช้ไม่ถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันหลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้ไขกฎหมาย เปิดทางให้ผู้ประกันตนสามารถรับเงินบำเหน็จบำนาญได้ หรือเงินออมได้ก่อนถึงเวลาเกษียณ และหลังเปิดสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยจะร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจากเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทด้วย
ด้าน น.ส.สรัสนันท์ ระบุว่า นอกจากการเยียวยาที่ อาจไม่ทั่วถึงและตรงตามเป้าหมายแล้ว เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหา เรื่องการขาดเงินทุน สำหรับการเตรียมเพาะปลูกในฤดูการผลิต ที่กำลังจะมาถึง เพราะก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ขาดรายได้ และเกิดปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบตามมา ประชาชนที่ได้ รับเงินเยียวยา จากมาตรการ 5,000 บาทของรัฐบาลจึงนำเงินเหล่านั้นไปชำระหนี้ เม็ดเงินที่จะนำมาต่อยอด เพื่อประกอบอาชีพ จึงขาดหายไป เสียงสะท้อนจากเกษตรกรพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน จึงต้องการให้รัฐบาลดูแลเรื่องภาระหนี้สิน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ควรมีมาตรการพักชำระที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้รัฐบาล เตรียมการ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพราะหากเริ่มต้นการหว่านไถ แต่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลที่ปลูกได้
เช่นเดียวกับนายโกศล ที่ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะการขาดรายได้จากการระบาดของโกวิด-19 การเยียวยาจึงไม่ทั่วถึงไม่ครอบคลุมกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเช่นการลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนถือเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิ เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ต้องเช่าไร่เช่านาโดยไม่มีเอกสารการเช่า จากนายทุนหรือเจ้าของที่ดิน คุณสมบัติจึงไม่ตรงตามที่รัฐกำหนดทำให้ขาดโอกาสการเข้าถึงสิทธิการเยียวยาเกษตรกร ตามมาตรการของรัฐ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ เพราะปัจจุบันชาวไร่ชาวนาเกือบทั้งหมดต้องเช่าที่ไร่ที่นาในการประกอบอาชีพ โดยนายโกศลเห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาสามารถทำได้หลายรูปแบบเช่น ให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยืนยันตัวตนว่าบุคคลใดที่เป็นเกษตรกรและได้รับความเดือดร้อนแท้จริง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ยังระบุตรงกันว่า ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัดเกิดวาตภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน จึงฝากส่งเสียงไปถึงรัฐบาลผ่านไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบและเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว