วันที่ 17 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งหากมีการยุบสภาว่า กกต. มีหน้าที่เตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว จะยุบสภา หรือไม่ยุบสภา เป็นปัจจัยที่วินิจฉัยได้ แต่ต้องดูว่านายกรัฐมนตรีมีความพร้อมที่จะลงเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะเหตุนี้ตนจึงคิดว่านายกฯ อาจไม่กล้ายุบสภา และสัญญาณที่ส่งมาจาก กกต. อาจส่งมาด้วยความบังเอิญ
พิธา กล่าวอีกว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา และคืนอำนาจให้ประชาชนในการเลือกผู้นำใหม่ในช่วงวิกฤตเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และพรรคก้าวไกลก็พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง แต่น่าเสียดายคือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นสิ่งที่ควรรีบทำให้เสร็จ ถ้ามีกฎในการคำนวณที่ยุติธรรมก็น่าจะเป็นทางออก เพราะต้องยึดโยงกับประชาชน
พิธา ระบุอีกว่า ตอนนี้ทางออกของการวินิจฉัยมันแบ่งออกเป็น 3 แพร่ง ตนคิดว่าเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากนับตั้งแต่ปี 2557 และมันไม่ใช่เรื่องกฎหมายย้อนหลัง มันเป็นเรื่องของความต่อเนื่อง และมีระบุในบทเฉพาะกาลที่ชัดเจน ไม่สามารถตีความเป็นอื่นได้ อีกทั้งความเห็นของนักวิชาการ และความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงคำวินิจฉัยเก่าๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนกัน ดังนั้นต้องแยกออกมาว่าเร่ื่องนี้เป็นกฎหมายอาญา หรือกฎหมายมหาชน หวังว่าเรื่องนี้ประชาชนจะจับตาดูศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นกลไกตรวจสอบ
“ในแง่ของการเมือง ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแปดปีที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลง ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเราอยู่รั้งท้ายอาเซียน การลงทุนต่ำสุดในช่วง 7-8 ปี ในช่วงที่ควรกระฉับกระเฉงเรากลับอ่อนแรง” พิธา กล่าว
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาจะมีเสียงเรียกร้องทางจิตสำนึกของ พล.อ.ประยุทธ์ พิธา ให้ความเห็นว่า คนที่จะมีสิทธิวินิจฉัยเรื่องนี้มากที่สุดคือ พี่น้องประชาชน เพราะประชาชนเรียกเขาว่านายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด แม้ว่าจะโดยชอบหรือไม่ และถ้าพล.อ.ประยุทธ์ นับเลขถูกได้ และเรียกตัวเองว่านายกรัฐมนตรีมาตลอด 8 ปี มันจบได้ที่จิตสำนึกตัวเอง ไม่ต้องไปตีความ