เมื่อเวลา 16.00 น. นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เปิดเผยอาการของวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่า เมื่อเย็นวันที่ 27 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้มาเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เนื่องจากท่านต้องการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนที่จะมีการเปิดศูนย์ห่วงใยคนสาครภายในสนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่า ถ้ามีการพบเชื้อโควิดในตัวท่านนั้น ไม่ได้มาจากผู้ที่พักรักษาอยู่ภายในศูนย์ฯ
ซึ่งเมื่อท่านมาตรวจร่างกาย สภาพร่างกายของท่านก็ยังแข็งแรง ปกติดีทุกอย่าง แต่มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้าจากการทำงานหนักและไม่ค่อยได้พักผ่อน ทั้งนี้เมื่อตรวจแล้วพบเชื้อจริง มีผลยืนยันจากแลป 2 แห่ง ทางแพทย์จึงได้รับตัวท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครไว้ดูแลรักษา โดยอาการล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.นั้น ยังคงเป็นปกติทุกอย่าง ยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาสดชื่นขึ้น ความอ่อนล้า อ่อนเพลียลดลง ด้านอาการข้างเคียงอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างการตรวจอย่างละเอียด ส่วนจะมีการย้ายไปที่โรงพยาบาลอื่นหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ตอนนี้ยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า ในการนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีความห่วงใยมาถึงข้าราชการและพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาครในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร โดยขอให้ทุกคนช่วยกันจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ให้เป็นผลสำเร็จ เพราะที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่เพื่อผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 และลดอัตราเสี่ยงการติดเชื้อภายนอกได้สูงขึ้น
นพ.อนุกูล เปิดเผยเกี่ยวกับอาการของผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงนั้นว่า จากผลตรวจในครั้งแรกไม่พบเชื้อในกลุ่มเสี่ยงสูง แต่ก็ต้องทำการกักตัวไว้เพื่อรอผลตรวจซ้ำภายใน 14 วัน ขณะที่กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกันผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้หลังจากที่มีข่าวว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครติดโควิด-19 นั้น ก็มีข้าราชการ และผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลสมุทรสาครกันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนี้ก็คือ กลุ่มผู้สื่อข่าวของจังหวัดสมุทรสาคร ที่ทำงานภาคสนามเกาะติดข่าวโควิดมาโดยตลอด ทั้งนี้ก็ได้รับความอนุเคราะห์จาก นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ที่ดำเนินการให้เข้าตรวจด้วยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย โดยคาดว่าจะทราบผลภายในอีก 2–3 วันข้างหน้านี้
เพจเฟซบุ๊ก COVID - 19 สมุทรสาคร เผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ยอดล่าสุด ถึงเวลา 14.00 น.วันที่ 28 ธ.ค. 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 14 ราย เป็นคนไทย 3 ราย ต่างชาติ 11 ราย จากการตรวจในโรงพยาบาล 28 ราย เป็นคนไทย 18 ราย ต่างชาติ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมจากการระบาดรอบใหม่ 1,590 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 1,370 ราย เป็นคนไทย 80 ราย ต่างชาติ 1,290 ราย จากการตรวจในโรงพยาบาล 220 ราย เป็นคนไทย 186 ราย ต่างด้าว 34 ราย
ผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 1,590 ราย อยู่ระหว่างการรักษาทั้งหมด เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 297 ราย แบ่งเป็นคนไทย 263 ราย ต่างชาติ 34 ราย ถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 1,293 ราย เป็นคนไทย 3 ราย ต่างด้าว 1,290 ราย
สำหรับการตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชนนับจากที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากตลาดกลางกุ้ง เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 ได้ดำเนินการไปแล้ว 14,426 ราย ตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว 12,356 ราย พบเชื้อ 1,370 ราย เป็นคนไทย 80 ราย ต่างชาติ 1,290 ราย
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร ว่า ภายหลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานมีความเป็นห่วงในสถานการณ์ดังกล่าว และได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครในวันนี้ขึ้น เพื่อหารือกับผู้แทนหน่วยงานและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางการควบคุมสถานการณ์โรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเป็นต้องเข้มข้นมาตรการดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนและเจ้าของกิจการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ นักวิชาการและทีมแพทย์ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์หลายประการ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปิดสนามม้า สนามชนไก่ สนามซ้อมชนไก่ สนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และสถานบริการ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2563 – 4 ม.ค. 2564 และหากสถานการณ์การระบาดของโรคดีขึ้น จะมีคำสั่งให้เปิดได้ แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจมีคำสั่งให้ปิดต่อเนื่องออกไปอีก สำหรับสถานบริการที่จะมีการปิดนั้น ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ ฉบับ พ.ศ. 2509 มาตรา 3 หมายถึง สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ มีดนตรี การแสดงดนตรี มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น มีการจัดแสงหรือเสียง มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อความบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เป็นต้น
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด สถานบริการสามารถปรับรูปแบบกิจการเป็นเพียงการจำหน่ายอาหารอย่างเดียวได้ โดยต้องเปิดให้บริการภายในเวลาที่กำหนด มีการดำเนินมาตรการควบคุมจำนวนคนในสถานที่ และกำหนดให้มีการเว้นระยะห่าง หากสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ได้ก็สามารถดำเนินกิจการต่อได้เช่นเดียวกัน
สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจกรณีผู้ป่วยโควิด-19 เพศชาย อายุ 45 ปี เสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.ระยอง โดยผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็น โรคหัวใจขาดเลือด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :