นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรอ. ได้ออก 7 มาตรการในการตรวจปล่อยสินค้าเศษพลาสติกที่ได้รับโควตาการนำเข้าอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในการตรวจปล่อยเศษพลาสติกที่นำเข้าตั้งแต่ด่านศุลกากรไปถึงปลายทางหรือโรงงานทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้รับโควตานำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ตามที่ผู้ประกอบการแจ้ง หรือป้องกันการลักลอบไปใช้ผิดเจตนารมณ์ของ กรอ.ที่ต้องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมส่งเสริมขีดความสามารถเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันไม่ให้เศษพลาสติกนำเข้าไปสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ
สำหรับ 7 มาตรการ ประกอบด้วย 1. เศษพลาสติกที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกัน (ชนิดต่างกัน) จะต้องแยกไม่ปะปนกัน, 2. เศษพลาสติกต้องไม่สกปรก หรือปนเปื้อนสารอินทรีย์ จนทำให้มีสีหรือกลิ่นอันพึงรังเกียจ หรือมีกลิ่นเน่า, 3. เศษพลาสติกต้องไม่มีเศษวัสดุอื่นเจือปนจนทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เช่น มีเศษอิฐ หิน ดิน ทราย เจือปน จนทำให้ต้องนำไปผ่านกระบวนการคัดแยก หรือทำความสะอาดก่อนนำไปใช้ประโยชน์ 4. ต้องสามารถระบุชนิดและประเภทของพลาสติกได้ชัดเจน 5. ต้องระบุรายละเอียดของพลาสติกให้ชัดเจนว่าเป็นพลาสติกชนิดใด และต้องระบุประเภทของพลาสติกตรงตามที่ปรากฏในเอกสารใบตราส่ง และใบขนสินค้าด้วย
ส่วนมาตรการที่ 6. ต้องแจ้งรายละเอียด และปริมาณของเศษพลาสติกก่อนการนำเข้า หรือก่อนนำสินค้าออกจากด่านศุลกากรทุกครั้ง โดยต้องมีข้อมูลต่าง ๆ เช่น สำเนาใบตราส่ง ใบตราส่งเลขที่ สำเนาใบขนสินค้าขาเข้าฯ (หากมี) ชนิดของพลาสติก ปริมาณการนำเข้า (กก.) จำนวนตู้สินค้า หมายเลขตู้สินค้า ลักษณะบรรจุภัณฑ์ ปริมาณคงเหลือก่อนหน้า ปริมาณคงเหลือ สำเนาใบอนุญาต พร้อมเอกสารแนบ และใบอนุญาตเพิ่มเติม และ 7. เอกสารที่ปรากฏต้องสอดคล้องกับรายละเอียดที่ปรากฏในใบขนสินค้า และใบตราส่ง
ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการบางกลุ่มได้ออกมาวิจารณ์ว่า ในปี 61-62 ประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศมากถึง 480,000 ตัน สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ทำให้ปัจจุบันสินค้าพลาสติกมีคุณภาพต่ำราคาถูก และกลายมาเป็นขยะท่วมประเทศไทยนั้น
ข้อเท็จจริงคือประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะเศษพลาสติกที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นพลาสติกใหม่ ไม่อนุญาตให้นำเข้าที่เป็นขยะ ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตโควตาการนำเข้าเศษพลาสติกจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ว่านำเศษพลาสติกที่นำเข้ามาเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานโดยตรง และมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่หากเจ้าหน้าที่ กรอ. และกรมศุลกากรตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนหรือสำแดงเท็จ การลักลอบนำเข้าก็จะให้ผลักดันกลับประเทศต้นทางทันที รวมถึงจัดการโรงงานที่ไม่ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต
นายประกอบ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังมีปริมาณโควตานำเข้าเศษพลาสติก เพื่อเป็นวัตถุดิบซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2563 ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับระดับนโยบายว่าจะมีการกำหนดปริมาณโควตานำเข้าอีกหรือไม่ ซึ่งทาง กรอ. พร้อมที่จะรับสนองนโยบาย จากที่คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ และตั้งแต่ปี 2561 ทางคณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่ได้อนุญาตให้มีโควตาการนำเข้าใหม่