สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 21,914.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการหดตัวติดลบร้อย 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่เมื่อคิดในรูปเงินบาท จะอยู่ที่ 670,452.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวติดลบร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ภาพรวมเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 166,091 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการหดตัวติดลบ ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
'กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์' ประธาน สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกลงมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 1.5 ในปี 2562 จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ติดลบร้อยละ 1 และประเมินการเติบโตในภาคการส่งออกในปี 2563 ไว้ที่ ร้อยละ 0 - 1
เงินบาท-เศรษฐกิจโลก-ภัยพิบัติไทย
'คงฤทธิ์ จันทริก' ผู้อำนวยการบริหาร สรท. เสริมว่า ปัจจัยบั่นทอนการส่งออกที่สำคัญของไทย ยังคงมาจากประเด็นเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าเกษตรของไทยได้รับผลกระทบโดยตรง และสร้างให้เกิดความเสียเปรียบต่อประเทศคู่แข่งทางการค้า
ล่าสุดในกลุ่มสินค้าเกษตร การส่งออกข้าวของไทยในเดือนสิงหาคมติดลบร้อยละ 44.6 ขณะที่คาดการณ์ตัวเลขส่งออกข้าวทั้งปีจะติดลบร้อยละ 24 ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้ง ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และ น้ำตาลทราย ก็ติดลบทั้งสิ้น
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังสร้างความกังวลให้กับการส่งออกของไทยและทั่วโลก โดยตัวเลขการเติบโตด้านการส่งออกทั่วโลก เติบโตติดลบถึงร้อยละ 4 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนของเบร็กซิตที่ต้องจับตาดูเช่นเดียวกัน
คงฤทธิ์ เสริมว่า ประเด็นด้านภัยพิบัติในประเทศ โดยเฉพาะน้ำท่วมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่กำลังจะออกมาในรอบของปี 2563 และกระทบต่อความสามารถในการส่งออกอย่างแน่นอน ซึ่ง สรท. มองว่ารัฐบาลควรเตรียมมาตรการรองรับให้พร้อม
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกของไทย ยังไม่แย่ลงไปมากกว่านี้ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือการส่งออกทองที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 377 หรือคิดป็นมูลค่า 1,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดือนสิงหาคม โดย กัณญภัค ชี้ว่า หากตัดปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกทองออกไป การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมจะติดลบถึงร้อยละ 9
ขณะที่อีกปัจจัยบวกชั่วคราว คือสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะผ่อนคลายความตึงเครียดเล็กน้อย หลังจีนออกมาประกาศงดเว้นการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯในเนื้อสุกรและถั่วเหลือง ขณะที่สหรัฐฯเองก็เลื่อนการขึ้นภาษีร้อยละ 30 ในสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม กัณญภัค ชี้ว่า สถานการณ์สงครามการค้ายังถือว่าไม่นิ่ง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา