จากกรณีแผนการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือ รัฐร่วมทุนกับเอกชนในการก่อสร้างและเดินรถ กับ รัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานเดินรถนั้น
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกแบบไหน เพียงแต่รับข้อมูลจากกรมรางฯ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดก่อน เสนอให้ร่วมทุนกับเอน หรือที่เรียกว่า PPP
แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เห็นว่าการให้ฝ่ายรัฐลงทุนงานโยธา และฝ่ายเอกชนดูแลเรื่องงานเดินรถ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ก็ต้องมาดูว่าทางออกไหน คือประโยชน์สูงสุดของประเทศ ตอนนี้ ยังไม่มีการตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น โดยในวันพฤหัสที่ 10 ตุลาคม จะหารือขอผลสรุปจากนายศักดิ์สยาม จากนั้น จึงนำเรื่องเข้า ครม.ต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนตัวเสนอให้แยกงานกัน เอกชนดูแลงานเดินรถ รัฐดูแลงานโยธา เพราะทำแบบนี้มาตลอด ซึ่งไม่เคยเห็นปัญหา ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยง และกระจายรายได้มากขึ้น ให้เม็ดเงินหมุนเวียนกว้างที่สุด แต่เมื่อ ครม. เห็นอย่างไรก็ต้องน้อมรับ ส่วนที่กังวลว่าถ้ากลับไปแยกสัญญา ก็ประเมินตัวเลขใหม่ จะทำให้เสียเวลา ส่วนตัว ไม่กังวลเพราะมีตัวเลขอยู่แล้ว เอาราคาจริงๆ มาคิดก่อน งานทำนองนี้ รฟท.ทำมาเยอะแล้ว ไม่ต้องห่วง
"มีการโจมตีว่าผมเป็นนักรื้อ ผมบอกเลยนะว่าผมไม่ได้จ้องจะทำอะไรแบบนั้น แต่ผมได้รับคำสั่งจากท่านนายกฯ ให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด งานโยธาประมาณ 9 หมื่นถึง แสนล้านบาท ใครทำรัฐก็จ่ายราคานี้ และค่อยๆ จ่าย ทำไมรัฐไม่ทำเองเสียเลย ให้คนอื่นทำ ทำไม ที่สำคัญ ให้รัฐเป็นผู้กู้ ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% แต่ให้เอกชนเป็นคนกู้ ดอกเบี้ยพุ่งไปถึง 5-6% แบบไหนมันคุ้มกว่า"