ไม่พบผลการค้นหา
“รองเลขาธิการ กกต.”เผย 95 เปอร์เซ็นต์ของส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองครั้งแรก จะเป็นตัวชี้ทิศทางอนาคตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พร้อมยอมรับบัตรเลือกตั้งใบเดียวสร้างอุปสรรคการบริหารจัดการให้กับ กกต.

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. บรรยายสรุปเรื่องการบริหารและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้กับผู้แทนองค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ กกต.จัดขึ้น

ตอนหนึ่งของการบรรยายรองเลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า การเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 350 เขตที่มีเบอร์แตกต่างกัน ทำให้เกิดอุปสรรคและปัญหาในการบริหารจัดการการเลือกตั้งของ กกต. โดยเฉพาะการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขตให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ขณะที่อำนาจของ กกต.ตามกฎหมายก็เปลี่ยนแปลงไป โดยหาก กกต.มีความเชื่อ มีพยานหลักฐานในระดับที่เชื่อได้ว่ามีการทำผิดกฎหมาย หรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ทันที ดังนั้นแม้ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดชัดเจน แต่เชื่อว่ามีการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม กกต.สามารถสั่งเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผล

เช่นเดียวกับการประกาศผลการเลือกตั้งที่แตกต่างจากในอดีตเช่นกัน คือในอดีตถ้าเขตเลือกตั้งใดไม่มีคำร้องคัดค้าน กกต.จะทยอยประกาศผลการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้หลังจากเสร็จการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมแล้ว สิ่งที่จะตามมาตามที่กฎหมายระบุไว้คือ กกต.ต้องประกาศผลไม่เกิน 60 วันนับจากวันที่ 24 มีนาคม

ซึ่งในการประกาศผลเลือกตั้งครั้งแรกจะต้องไม่น้อยกว่า 95% ของจำนวนส.ส. 500 คน โดย 95% คือการประกาศผล ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 333 เขต โดยต้องประกาศไม่ต่ำกว่า 333 เขต นั่นคือ กกต.มีอำนาจไม่ต้องประกาศเลือกตั้งได้ 17 เขต 

และเมื่อประกาศ 333 เขตแล้ว จึงนำมาคำนวณเป็นบัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่ง 95% ของส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน คือ 142 คน ดังนั้นกกต.ต้องประกาศจำนวนส.ส.ทั้ง 2 ระบบครั้งแรกรวม 475 คน

นายณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้ส.ส. 95%แล้วจึงจะสามารถเปิดประชุมส.ส.ครั้งแรกได้ ซึ่งในอดีตจะประชุมครั้งแรกจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ครั้งนี้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวม 750 คน ซึ่งก็คือส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน ทำการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

ดังนั้น ตัวเลขที่ กกต.ประกาศ คือ 475 คนบวกกับส.ว. 250 คน เป็นการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี การกำหนดให้ กกต.ประกาศจำนวนส.ส.ไม่น้อยกว่า 95% จึงเป็นการปัจจัยสำคัญที่จะเห็นอนาคตของเมืองไทยว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

รองเลขาธิการ กกต. ยังบรรยายด้วยว่า บัตรเลือกตั้งครั้งนี้มีเพียงใบเดียว ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกากบาทได้เพียงเครื่องหมายเดียว ให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หากเห็นว่าผู้สมัครทุกคนไม่ดี สามารถกาในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้ใดได้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของตัวเอง

กรณีที่ไม่เลือกผู้สมัครใดเลยเรียกว่าโหวตโน หากโหวตโนชนะคะแนนของผู้สมัครทุกคนในเขตเลือกตั้งนั้น กฎหมายระบุให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในทันที ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้เสนอแผนการจัดการเลือกตั้งใหม่ไว้แล้วหากเกิดกรณีนี้ขึ้น ขณะที่ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งต้องได้รับคะแนนอันดับที่ 1 และชนะโหวตโนด้วย

รองเลขาธิการ กกต.ระบุอีกว่า คนที่เข้ามาช่วย กกต. ในการบริหารจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนล้านกว่าคน เพื่อทำงานใน 1 วันคือวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งโครงสร้างบนสุดคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งทาง 350 เขต มีผู้อำนวยการประจำเขตการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งมีหน้าที่สำคัญนอกจากการควบคุมการจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นแล้ว ยังมีหน้าที่ในการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย