ไม่พบผลการค้นหา
ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2564 ให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอได้ แต่ต้องผ่าน ครม.ก่อน พร้อมทั้งห้ามภิกษุ สามเณร ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิออกเสียง

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564

ประชามติ.JPG


โดยมีสาระสำคัญ เช่น มาตรา 9 กำหนดให้มีการออกเสียงตามประชามติ ใน 5 กรณี 1) การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2) การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร 3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง 4) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มี 5) การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ การออกเสียงในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ จะกระทำมิได้

สำหรับผลการออกเสียงมาตรา 13 ระบุว่า ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ขณะที่ มาตรา 17 บัญญัติว่า ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคม ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้โดยเสรี เสมอภาค และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนในกรณีเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลในการออกเสียงที่กระทำโดยหน่วยงานของรัฐ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมได้เข้าร่วมอย่างเสรี และเท่าเทียม

โดยการออกเสียงประชามตินั้น ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง

สำหรับบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง 1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ 3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ส่วนหมวดว่าด้วยการบทลงโทษ มาตรา 71 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

มาตรา 72 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง คณะกรรมการประจำเขต กรรมการประจำเขต คณะกรรมการประจำหน่วย กรรมการประจำ หน่วย คณะอนุกรรมการ อนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงาน ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 73 ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวผู้ใต้บังคับบัญชาหรือ ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 74 ผู้ใดทำลายบัตรออกเสียงโดยหรือจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดแก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 75 ผู้ใดทำลายเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ออกเสียง อิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลการลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผิดไปจากความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ