ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคก้าวไกล แจงเหตุไม่ร่วมฝ่ายค้านแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ย้ำตั้ง สสร.ต้องไม่มีล็อก แต่คือพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกความเห็น วอนอย่ากังวล เพราะแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบอบและรูปแบบ ‘ราชอาณาจักร’ ไม่ได้

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ต่อกรณีพรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อเสนอญัตติด่วนให้สภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขมาตรา 256 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.ขึ้น โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลพยายามไม่พูดเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เมื่อวานนี้ สุทิน คลังแสง ประธานวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้บอกกับสื่อมวลชนให้มาถามทางพรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมได้เข้าใจตรงกัน 

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล เห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นระเบิดเวลาหรือเป็นวิกฤติ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสด้วย หมายความว่า ทางออกของวิกฤตสามารถทำได้โดยการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับผ่านการตั้ง สสร.เพื่อไม่ทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตัน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ พรรคก้าวไกลจึงไม่ได้ร่วมเข้าชื่อ เพราะขอสงวนความเห็นในประเด็นสำคัญบางประการไว้ แต่ยืนยันว่ายังทำงานร่วมกันต่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่น เช่น ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการปิดสวิตซ์ ส.ว.ผ่านการยกเลิกมาตราที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. ได้แก่ มาตรา 269 - 272 ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านกำลังพิจารณาร่วมกันอยู่ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะยื่นเสนอแก้ไขร่วมกันในประเด็นเหล่านี้

“สำหรับประเด็นแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. พรรคก้าวไกลเห็นด้วย และญัตตินี้ เมื่อมี ส.ส.เข้าชื่อเกิน 1 ใน 5 หรือ 98 คนแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ซึ่งเราก็คงจะไปร่วมอภิปรายด้วย เพียงแต่เราขอสงวนความเห็นบางประเด็นไว้” ชัยธวัช กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ความเห็นที่พรรคก้าวไกลขอสงวนไว้คือ การเสนอปิดสวิตซ์ ส.ว.ในคราวนี้เลยใช่หรือไม่ นายชัยธวัช ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ใช่ประเด็นนี้ เพราะจะเป็นญัตติที่แยกยื่นต่างหากเนื่องจากการแก้ไขมาตรา 269 - 272 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ส.ว.ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ จึงไม่ควรผูกเข้าไว้การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. ซึ่งต้องมีการทำประชามติ 

“ประเด็นที่เราสงวนความเห็นไว้ก็คือ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ยื่นกันไปเมื่อวานนี้นั้นไปกำหนดไว้ว่า สสร.ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ หมวด 2 พรรคก้าวไกล เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประเด็นแรก การไปล็อกไว้ว่า สสร.จะไม่แก้หมวด 1 และ หมวด 2 จะไปผลิตซ้ำความเข้าใจผิดว่า รัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 แตะต้องแก้ไขไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วมีการแก้ไขมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามหรือแปลกประหลาด หากมีการกังวลว่าจะมีการเซ็นเช็คเปล่าให้ สสร.ไปแก้อะไรที่เลยเถิด เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะการแก้รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งมีข้อจำกัด รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 255 ซึ่งเป็นมาตราแรกของหมวดแก้ไขรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อยู่แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งหมายความถึงการเป็นราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ มันจึงมีกรอบที่กำหนดขอบเขตในการจัดทำรัฐธรรมนูญอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปสร้างความเข้าใจผิด”

ประการที่ 2 ชัยธวัช กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หมายความว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ เขาได้แสดงออกถึงสิ่งที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไว้ถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน พูดตรงๆก็คือมีการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงคิดว่าสิ่งที่สังคมต้องตั้งหลักให้ดีคือ ควรมีวุฒิภาวะในการฟังพวกเขาและอย่าไปใช้ความรุนแรงหรือกดดัน เพราะสิ่งที่พวกเขาเสนอยังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

“เรามีความกังวลว่าหากไปล็อก หมวด 1 และ 2 ไว้ จะยิ่งทำให้ไปลดวุฒิภาวะของสังคมในการรับฟัง ส่งผลไปอีกด้านหนึ่งคือการปิดพื้นที่ปลอดภัย ทำให้สังคมรู้สึกว่าสิ่งที่สังคมหรือคนรุ่นใหม่แสดงออกเป็นสิ่งต้องห้าม แทนที่การมี สสร. จะเป็นทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย สามารถเสนอความเห็น ความต้องการของตนเอง และหาข้อยุติร่วมกันอย่างสันติได้ ก็จะทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่า สสร.นี้ไม่ใช่พื้นที่ของพวกเขา”

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ชัยธวัช ย้ำอีกครั้งว่า การสงวนความเห็นนี้อาจทำให้เข้าใจได้ว่า พรรคก้าวไกลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 1 และ 2 แต่ความจริงคือพรรคไม่ได้เสนอว่าควรจะแก้หรือไม่ แต่ต้องการให้ สสร.เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกฝ่ายมาหาข้อยุติร่วมกันได้จริง เชื่อว่า ใน สสร.จะทำให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถได้ทุกอย่างอย่างที่ตนเองต้องการ แต่จะเป็นพื้นที่ให้สังคมสามารถหาฉันทามติหรือหาจุดสมดุลย์ได้ และสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องนำไปผ่านประชามติ เสียงส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นผู้ตัดสินว่ายอมรับหรือไม่ ดังนั้นจึงอย่าวิตกกังวลกันมากจนเกินไป

สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลที่จะมีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไปคือ มาตรา 269 -272 มาตรา 269 สาระสำคัญคือ การยกเลิก ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. แล้วให้กลับไปใช้ ส.ว. 200 คน ที่อยู่ในหมวดปกติ ส่วน มาตรา 270 และ 271 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกกฎหมายปฏิรูปประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับ ส.ว. ส่วนมาตรา 272 คือการยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้แยกในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นหลักของพรรคร่วมฝ่ายคือการปลดล็อก การแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องการให้มี สสร. ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งพรรคก้าวไกลได้มีการพิจารณาเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ในร่างฉบับดังกล่าวมี

รายละเอียดสำคัญบางประการที่พรรคก้าวไกลต้องขอสงวนไว้ เนื่องจากญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีการแก้ไขในหมวด1 และ หมวด 2 โดยยังมีกรณีอื่นๆ ที่พรรคก้าวไกลจะมีการผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งนี้ ในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ลงชื่อจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด หรือ 98 คน ซึ่งขณะนี้พรรคก้าวไกลกำลังดำเนินการในการยื่นญัตติเรื่องการปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.

คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 ซี่งเป็นเรื่องที่นักศึกษาเรียกร้อง โดยพรรคได้ทำการร่างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างยื่นให้พรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณา โดยจะทำการยื่นญัตตินี้ให้เร็วที่สุดซึ่งคาดว่าจะยื่นได้ภายใน สัปดาห์หน้า ซึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ปิดล็อกและทำให้เกิดวิกฤตในตัวเอง โดยสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีทางที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไข เปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องยกร่างฉบับใหม่ พร้อมทั้่งขอเรียกร้องให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ร่วมลงชื่อในญัตติของพรรคก้าวไกลด้วย

อย่างไรก็ตาม ในร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยมีการระบุว่าจะไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 แต่ที่ผ่านมาหมวดที่ 1 มีการแก้ไขมาโดยตลอด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะปิดล็อกไม่ให้มีการแก้ไข ส่วนกรณีหมวดที่ 2 เป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จึงมีการตั้งคำถามว่าหากมีการแก้ไขโดย สสร. ก็เกรงว่า สสร. จะมีการแก้ไขในข้อความที่เลยเถิดออกไปเกินกว่าที่จะกำหนดได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์นั้น ยังมีรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ที่ระบุอยู่แล้วว่า รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ขณะเดียวกัน จะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ซึ่งเป็นการเขียนเพื่อให้ยกเว้นการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 ไว้อยู่แล้ว

ดังนั้น จึงมองว่า สังคมไทยต้องมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับบุคคลที่มีวุฒิภาวะ และต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความเห็นอย่างเปิดกว้าง ซึ่งเชื่อว่า เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นแล้วมา เมื่อมี สสร. แล้ว ทุกความเห็นจะถูกเสนอย่างเป็นระบบให้ สสร. พิจารณา ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ควรนำมาพิจารณาก่อนคือข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ 2 จุดยืน กับ 1 ความฝัน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ประชาชนเห็นตรงกัน แต่ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก็มีบางข้อที่ควรค่าแก่การพิจารณา ดังนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้มีข้อถกเถียงกัน มีกระบวนการรับฟังที่เป็นระบบ และจำเป็นต้องรับฟังความเห็นที่หลากหลาย โดยมองว่าในข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีบางประเด็นที่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมว่าต้องการสื่อสารอะไร แต่ในภาพรวมไม่กระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข