โควิด-19 ที่เคยมีคนบอกว่าจิ๊บๆ เหมือนหวัดธรรมดา ตอนนี้ดูจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะติดกันเร็วเหลือเกิน ที่น่าตกใจไม่เฉพาะมีคนตายจากโรคนี้ แต่เป็นเพราะคนระดับรัฐมนตรี นักการเมือง ดาราฮอลลีวู้ด ภรรยาผู้นำประเทศ หรือแม้แต่ทหารยศใหญ่ ฯลฯ ติดกันเป็นแถว
ยิ่งเป็นดาราผู้คนยิ่งรู้สึกใกล้ชิดใกล้ตัว ไม่แปลกเลยที่พอบ้านเรามีข่าวดาราติดเชื้อ ข่าวที่ตามมาติดๆ ก็คือ การเริ่มกักตุนข้าวปลาอาหารจนชั้นวางว่างโล่งโจ้ง จะบอกว่าตื่นตระหนกก็ไม่เชิงหรอก แต่ตุนไว้ดีกว่าแก้ เพราะหันมองไปทางไหนก็มีแต่ประชาชนทั้งนั้นที่เดือดร้อน ไหนจะต้องหาเงินมาซื้อหน้ากากแพงๆ แอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่ถึง และยังต้องเสียภาษีที่ไม่รู้เสียไปแล้วได้อะไรขึ้นมา
บ้านเราผ่านสถานการณ์การระบาดของโรคต่างๆ มาตั้งแต่บรรพกาล ผู้คนฝ่าวิกฤตมาแล้วตั้งแต่กาฬโรค วัณโรค ไข้กาฬนกนางแอ่น (ไข้กาฬหลังแอ่น) กามโรค อหิวาตกโรค โดยโรคหลังนี้ถือเป็นโรคฮิต ระบาดเมื่อไหร่ตายเป็นเบือเมื่อนั้น และหากมองตามประวัติศาสตร์โลกแล้ว ถือกันว่าอหิวาตกโรคระบาดใหญ่มาแล้ว 7 ครั้ง แทบทุกครั้งไทยก็ระบาดกับเขาด้วย นั่นก็เพราะบ้านเราไม่เคยโดดเดี่ยวจากสังคมโลก มีการติดต่อไปมาหาสู่กับประเทศอื่นๆ ตลอด
การระบาดที่ดูจะหนักหนาในบ้านเรา ตรงกับรอบการระบาดครั้งใหญ่ของโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2360-2366) หรือในสมัย ร.2 นั่นเอง พระราชพงศาวดารบันทึกว่าตอนนั้นในพระนคร "เผาศพกันแทบไม่ทัน" มีศพทับถมกองกันทั้งบนบกและลอยอล่างฉ่างในน้ำ ดึงดูดเหล่านักกินซากให้มาบุฟเฟต์จนเป็นที่มาของคำว่า "แร้งวัดสระเกศ"
ถึงจุดที่ต้อง "หาที่พึ่งทางใจ" ด้วยการจัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ เชิญพระแก้วมรกตแห่รอบเมือง ยิงปืนไล่สิ่งชั่วร้าย ฯลฯ เป็นการปลุกปลอบขวัญประชาชน ไม่รู้ว่าด้วยอานุภาพแห่งพุทธคุณ หรือเป็นเพราะประชาชนต่างกักตัวไม่ออกจากบ้านกันเลย เพราะอหิวาตกโรคครั้งนั้นซาไปในเวลาเพียง 15 วัน รวมคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ 30,000 คน
อหิวาตกโรคระบาดหนักอีกครั้งในสมัย ร.5 สอดคล้องกับการระบาดครั้งใหญ่ของโลกระรอกที่ 5 และ 6 (พ.ศ.2426-2439 / 2442-2466) ในช่วงนั้นวงการระบาดไม่ได้อยู่จำกัดแต่ในพระนคร หรือหัวเมืองใกล้ๆ อีกแล้ว มีหลักฐานคือ "ใบบอกหัวเมือง" จากข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ที่รายงานตัวเลขคนป่วยคนตายเข้ามาถึงพระนคร โดยคนป่วยคนตายส่วนใหญ่ คือ "ราษฎร" และ "นักโทษ" เช่น เมืองปราจีนบุรี รศ.119 มีคนป่วยรวมกัน 419 คน ตายไปเสีย 280 คน ไม่รู้มีคนตกสำรวจไหม แต่อัตรานี้คือตายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ตำบลบ้านหวาย เมืองพยุหคีรีในปีเดียวกันนั้น อหิวาตกโรคก็เล่นงานเหมือนกัน ทำชาวบ้านหนีตายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในป่า จนข้าราชการต้องไปเกลี้ยกล่อมให้กลับมาตั้งภูมิลำเนาตามเดิม
แม้ตัวเลขจากใบบอกหัวเมืองดูเหมือนมีแต่ชาวบ้านที่เดือดร้อน แต่ที่จริงแล้วโรคระบาดก็คือโรคระบาด ทรงประสิทธิภาพอย่างถ้วนหน้า โดยในสมัย ร.5 หากลองสำรวจจาก "ข่าวตาย" ในราชกิจจานุเบกษา จะเห็นว่าคนชั้นสูงก็ไม่รอดเหมือนกัน ช่วงระบาดหนักๆ ปี พ.ศ.2428 มีเชื้อพระวงศ์และขุนนางตายกันแบบวันต่อวัน
- วันอังคารขึ้น 11 ค่ำเดือน 12 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงถนอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์จากอหิวาตกโรคหลังจากรักษาได้เพียงวันเดียว
- วันพุธขึ้น 12 ค่ำเดือน 12 หลวงพินัยนิติสาตร (สุก) ตระลาการศาลต่างประเทศ และหลวงวยาธิการนุกิจ (ทอง) ในกรมหมอ ถึงแก่กรรมจากอหิวาตกโรค
- วันพฤหัสบดีขึ้น 13 ค่ำเดือน 12 หม่อมเจ้าหญิงเลื่อน ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (โอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าสมัย ร.3) สิ้นพระชนม์จากอหิวาตกโรค
เห็นได้ชัดว่าโรคระบาดไม่เลือกยากดีมีจนไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ไม่ใช่ภัยพิบัติแบบน้ำท่วม ที่บ้านใครรวยมีอำนาจก็กั้นกระสอบทราย สูบน้ำจากบ้านตัวเองไปใส่ที่ส่วนรวมได้ ดังนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ติดเชื้อพอๆ กัน สิ่งสำคัญก็คือมาตรการที่ชัดเจน และความจริงใจในการแก้ปัญหา
คงไม่ต้องรอให้คนสำคัญๆ ตายกันก่อนหรอกนะ ถึงจะตั้งใจทำงานกันได้