ไม่พบผลการค้นหา
ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) ชาติสมาชิกกว่า 185 ประเทศลงมติท่วมท้นประณามสหรัฐฯ จากมาตรการคว่ำบาตรคิวบาที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน ในขณะที่ทางการคิวบาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการตั้งข้อจำกัดกับตน สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ

กว่า 185 ประเทศชาติสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไทยร่วมด้วย ลงมติไม่มีข้อผูกพันสนับสนุนการประณามการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อคิวบา ในขณะที่สหรัฐฯ กับอิสราเอลเป็นชาติสมาชิก 2 ชาติเท่านั้น ที่ลงมติคัดค้านการประณามในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี บราซิลและยูเครนลงมติงดออกเสียงในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้

การลงมติเห็นด้วยของไทยต่อการประณามสหรัฐฯ ต่อกรณีการคว่ำบาตรคิวบาในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่เดินทางมาร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนนี้ โดยอาจมี คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางมาร่วมการประชุมแทน ทั้งนี้ ไบเดนมีกำหนดการเดินทางเยือนกัมพูชาและอินโดนีเซียในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการประชุม APEC ที่ไทย

นอกจากนี้ การลงมติในครั้งนี้ของไทยยังถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ไทยเหมือนจะไม่มีความสม่ำเสมอต่อการรักษาความเป็นกลางบนเวทีโลก ตามคำกล่าวอ้างของตนที่มีมาโดยเสมอ โดยเฉพาะกรณีการลงมติประณามรัสเซียจากการรุกรานยูเครน ซึ่งไทยงดออกเสียงด้วยการให้เหตุผลของการรักษาความเป็นกลาง และการหาทางออกผ่านการเจรจาของชาติคู่ขัดแย้งมาโดยตลอด

การลงมติประณามสหรัฐฯ ต่อกรณีการคว่ำบาตรคิวบาในครั้งนี้ มิใช่ครั้งแรกแลกที่ประชาคมโลกประณามสหรัฐฯ แต่มีการดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วกว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อการโจมตีนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีต่อคิวบา ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ

“สหรัฐฯ คัดค้านมตินี้ แต่เรายืนหยัดเคียงข้างชาวคิวบา และจะยังคงแสวงหาหนทางที่จะให้การสนับสนุนที่มีความหมายแก่พวกเขาต่อไป” จอห์น เคลลีย์ ผู้ประสานงานทางการเมืองของสหรัฐฯ กล่าวกับสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 พ.ย.)

ในทางตรงกันข้าม ยูริ กาลา รองผู้แทนคิวบาประจำสหประชาชาติ กล่าวโต้ตอบกับทางสหรัฐฯ ว่า “หากรัฐบาลสหรัฐฯ สนใจเรื่องสวัสดิการ สิทธิมนุษยชน และการกำหนดชะตากรรมของชาวคิวบาจริงๆ (สหรัฐฯ) อาจยกเลิกมาตรการปิดกั้นลงได้”

สหรัฐฯ คว่ำบาตรห้ามส่งสินค้าไปยังคิวบาในปี 2503 หลังจากการปฏิวัติคิวบาที่นำโดย ฟิเดล คาสโตร และตามมาด้วยการแปรรูปทรัพย์สิน ที่เป็นของพลเมืองและบรรษัทสหรัฐฯ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลคิวบา จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา มาตรการห้ามการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ท่ามกลางข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทางการสหรัฐฯ ตั้งขึ้นต่อคิวบา เริ่มถูกบังคับใช้เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ

ในยุคสมัยของ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มีความพยายามในการดำเนินการหลายขั้นตอน เพื่อบรรเทาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบา ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาอย่างเป็นทางการ และการเดินทางเยือนกรุงฮาวานาของโอบามา “ครั้งประวัติศาสตร์” ในปี 2559 ในปีเดียวกันนั้นเอง สหรัฐฯ งดออกเสียงมติการประณามตนเองบนเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ จากการที่ตนเองคว่ำบาตรคิวบา

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ได้ล้มเลิกความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบา และกลับมาใช้แนวทางนโยบายที่เข้มงวดต่อคิวบามากขึ้น รวมถึงการยกระดับการคว่ำบาตร และการสั่งย้อนคืนนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติ 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ไม่ได้เบนทิศทางนโยบายของตนต่างไปจากนโยบายของทรัมป์มากนัก ทั้งนี้ รัฐบาลไบเดนดำเนินการด้านนโยบายที่ไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก เพื่อการผ่อนคลายข้อจำกัดในการส่งเงินและเที่ยวบินจากสหรัฐฯ ไปยังคิวบา ความตึงเครียดของทั้ง 2 ชาติ ยังถูกยกระดับขึ้นจากประเด็นผู้อพยพ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคอเมริกาเหนือ

ก่อนการลงคะแนนเสียงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในมติการประณามสหรัฐฯ จากการคว่ำบาตรคิวบา บรูโน โรดริเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคิวบา กล่าวหาฝ่ายบริหารของไบเดนว่ายังคงใช้ “แรงกดดันสูงสุด” ต่อเนื่องกับทางคิวบา โดยโรดริเกซระบุว่าในช่วง 14 เดือนของการเป็นประธานาธิบดีของไบเดน การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ได้ทำให้เศรษฐกิจคิวบาเสียหายไปประมาณ 6.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.38 แสนล้านบาท)

อย่างไรก็ดี ตัวแทนของสหรัฐฯ ในสหประชาชาติโต้กลับต่อคิวบาว่า บทลงโทษทางเศรษฐกิจของตนเป็นการตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลคิวบา ซึ่งปราบปรามการประท้วงของประชาชนในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ทางการคิวบายังสั่งลงโทษประชาชนเกือบ 400 คน ฐานเข้าร่วมการประท้วง ซึ่งหมายรวมถึงการลงโทษจำคุกเป็นเวลานานอีกด้วย

การปราบปรามประชาชนของรัฐบาลคิวบา ก่อให้เกิดการประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงการคว่ำบาตรครั้งใหม่จากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ทางการคิวบาได้ต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศตนว่า “คิวบาไม่ต้องการบทเรียนเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยไปกว่าสหรัฐฯ” กาลาระบุ


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/3/un-general-assembly-rebukes-us-embargo-on-cuba