อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวม ทั่วประเทศโดยเฉพาะ 28 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่วันนี้สถานการณ์หลายจังหวัดเริ่มดีขึ้น จะมีการประเมินคลายล็อค เพื่อให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ว่าเรื่องนี้ถ้าได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการเฝ้าระวังตัวเอง จนควบคุมการแพร่ระบาดได้ต้องมีการคลายล็อคที่จะเป็นสิ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติ
ส่วนแนวโน้วจะคลายล็อคเร็วๆ นี้เลยหรือไม่นั้น อนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละจังหวัด รวมทั้งขึ้นอยู่ ศบค.และคณะทำงานในการประชุมติดตามและพิจารณา ซึ่งเราไม่ได้มีความสุขในการประกาศสิ่งเหล่านี้ แต่มีความทุกข์และกังวล แต่ต้องทำทุกอย่างให้ปลอดภัย เช่นที่ จ.สมุทรสาคร ได้รับรายงานว่า วันที่ 27 ม.ค.นี้ ตลาดกลางกุ้งจะเปิดเป็นปกติ ซึ่งระหว่างช่วงนี้ก็ต้องจัดการในส่วนของผู้ติดเชื้อ และผู้ที่อยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน พร้อมการบิ๊กคลีนนิ่งและคัดกรองจนมั่นใจแล้วค่อยๆ เปิด ขณะที่จังหวัดอื่นก็เช่นเดียวกัน
ส่วนจะมีแนวโน้มพิจารณาอาชีพไหนเป็นพิเศษในการคลายล็อคเป็นลำดับแรกๆหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า อย่างที่บอกโรคนี้ไปตามการเคลื่อนที่ของคน ถ้าเราไปเร่งเปิดตรงไหนที่การใช้หน้ากากอนามัยใช้ไม่ได้และมีการสัมผัสใกล้ชิดก็เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ดังนั้นต้องให้มั่นใจ ว่าการระบาดลดน้อยลงจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เป็นลำดับ
เมื่อถามว่า จะคลายล็อคเร็วๆ นี้เลยหรือไม่ เพราะมีผู้ประกอบกิจการหลายรายถูกสั่งปิด แม้เลยกำหนด 14 วันแล้ว อนุทิน กล่าวว่า ให้ฟังรายละเอียด ศบค.ในเรื่องมาตราการต่างๆ และฟังสาธารณสุขในการให้ข้อมูลและคำแนะนำให้ประชาชนปลอดภัย ยืนยันว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาดีขึ้นและได้รับความร่วมือจากประชาชนเต็มที่ จะไม่มีการถ่วงเวลาไว้ พร้อมผ่อนคลายทันทีอยู่แล้ว
อนุทิน ชี้แจงถึงกรณีข้อกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน covid-19 ว่า ประเทศไทยจะมีวิธีการทดลองในรูปแบบไหน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และ การขึ้นทะเบียนยาหรือผลของวัคซีนต่างๆ นั้น ใช้ผลการทดลองของของผู้ผลิตในประเทศนั้นมาเป็นองค์ประกอบ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้แตกต่างนอกเหนือจากบริษัทผู้ผลิตยาแนะนำ ต้องทำควบคู่กันไป เวลาก็สำคัญ แต่ถ้าหากจะให้บอกว่าต้องปลอดภัย 100% ไม่มีการแพ้ ไม่มีอาการข้างเคียง ส่วนตัวกลัวว่าจะไม่ได้วัคซีนกัน เราต้องยึดถือหลัก ทั้งหลักที่สถาบันทางการแพทย์ องค์การอนามัยโลกยอมรับ
อนุทิน กล่าวว่า ไทยมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีคณะกรรมการโรคติดต่อ และยังมีแพทยสภา ซึ่งทุกฝ่ายต้องระดมกำลัง ที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ส่วนเรื่องวัคซีนไม่ต้องกังวล เพราะทางกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอาหารและยาหรือ อย. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องทำการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบข้อมูล ต่างๆ ที่แต่ละบริษัทส่งเข้ามา ซึ่งมีข้อมูลหลายหมื่นหน้า กว่าที่จะตรวจสอบและอนุมัติได้ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ จึงขออย่ากังวล ซึ่งมีมาตรฐานในการพิสูจน์อยู่แล้ว
"ที่สำคัญที่สุดตอนนี้ในเรื่องของวัคซีนป้องกัน covid-19 ไม่ว่าจะมาจากผู้ผลิตบริษัทใด การอนุมัติให้ใช้ ก็อนุมัติอยู่บนมาตรฐาน การใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่ในรูปแบบของเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากถามว่าตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนจะสามารถสั่งมาใช้เลยได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะว่าการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้ออกมา ยังไม่สามารถถึงขั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทุกอย่างต้องอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล" อนุทิน กล่าว
ส่วนกรณีที่เกิดการตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้ที่ทดลองฉีดวัคซีนเองหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ยืนยันว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง เช่นเดียวกับเรื่องเวลา ที่จะได้วัคซีนมา การฉีดวัคซีนนโยบายสำคัญที่ต้องฉีดให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความยินยอมของแต่ละบุคคลไม่สามารถไปบังคับได้ แต่ขั้นตอนก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเจ้าหน้าที่ก็ต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้พิจารณาตัดสินใจ
"ยืนยันว่า ไทยมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน โดยล็อตแรกจำนวน 20 ล้านโดส ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ต้องใช้เวลาในการที่จะจัดคิวในการลำดับความสำคัญ แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข อย่างกรมควบคุมโรค หรือผู้ที่จะฉีดเอง ก็จะต้องจัดระบบเหมือนกัน เพราะวัคซีนที่ใช้กันนี้เป็นวัคซีนที่ฉีดครั้งแรกในโลกนี้ อย่างนั้นหากจะนำมาฉีด จะต้องมีการจัดการอย่างเข้มงวดทั้งเรื่องสถานที่เฝ้าระวัง เฝ้าสังเกตการณ์ และคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี่จะไม่ใช่การฉีดวัคซีนทั่วไป ต้องเฝ้าสังเกตการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 นาทีหลังการฉีดเป็นอย่างต่ำ" อนุทิน กล่าว
อนุทิน กล่าวด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 ที่จะเข้ามาให้บริการกับประชาชนคนไทย ทั้งสั่งซื้อมาจากต่างประเทศและผลิตในประเทศไทยด้วย จะพร้อมให้บริการทั้งหมดในเดือนมิถุนายน