อย่างไรก็ดี เด็กหญิงส่วนใหญ่ที่ถูกตรวจพบใส่ชุดอาบายายอมเปลี่ยนไปใส่ชุดอื่น โดยตามตัวเลขของทางการฝรั่งเศส มีเด็กหญิง 298 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เดินทางมาถึงโรงเรียน พร้อมกันกับการสวมชุดอาบายาซึ่งถูกห้ามไม่ให้ใส่ อย่างไรก็ดี ภายใต้คำแนะนำของกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องพูดคุยกับเด็กๆ ในแต่ละกรณี ถึงการขอความร่วมมือให้เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่
ทั้งนี้ เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ตกลงที่จะเปลี่ยนการแต่งตัวตามกฎ และสามารถเข้าไปเรียนในห้องเรียนได้ อย่างไรก็ดี มีเด็กหญิง 67 คนปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎและถูกส่งตัวกลับบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะทำการเจรจากับครอบครัวของเด็กหญิงไปอีกระยะหนึ่ง แต่หากการเจรจาไม่สำเร็จ เด็กๆ จะถูกยกเว้นไม่ให้เข้าเรียน
รัฐบาลฝรั่งเศสเชื่อว่าตัวเลขของจำนวนเด็กหญิงที่ยอมเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการสั่งห้ามสวมชุดที่แสดงออกเชิงศาสนาอันขัดต่อกฎหมายโลกวิสัยของฝรั่งเศส ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นกฎที่บังคับใช้ต่อเด็กนักเรียนชายและหญิงทุกศาสนาจำนวน 12 ล้านคน ที่เริ่มภาคเรียนใหม่เมื่อวันจันทร์ทั่วฝรั่งเศส
อย่างไรก็ดี กลุ่มที่เป็นตัวแทนของชาวมุสลิมบางส่วนในฝรั่งเศส ได้ทำการฟ้องร้องต่อรัฐบาลในกรณีกฎหมายโลกวิสัยแล้ว หลังจากเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศสได้ประกาศว่า นักเรียนจะถูกห้ามไม่ให้สวมเสื้อคลุมยาวหลวม ที่ผู้หญิงมุสลิมบางส่วนสวมใส่ในโรงเรียนของรัฐในฝรั่งเศสเมื่อช่วงเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา
ฝรั่งเศสสั่งห้ามการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางศาสใดๆ อย่างเข้มงวดในโรงเรียนของรัฐ และอาคารรัฐบาล โดยรัฐบาลฝรั่งเศสอ้างว่า การกระทำดังกล่าวละเมิดกฎหมายโลกวิสัยของประเทศ ทั้งนี้ ฝรั่งเศสสั่งห้ามการสวมผ้าคลุมศีรษะฮิญาบของเด็กนักเรียนมาตั้งแต่ปี 2547 ในโรงเรียนของรัฐ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการถกเถียงกันนานหลายเดือน เกี่ยวกับการสวมชุดอาบายาในโรงเรียนฝรั่งเศส หลังจากเสื้อผ้าในลักษณะดังกล่าวมีการนำมาสวมใส่ในโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง ทั้งนี้ พรรคฝ่ายขวาของฝรั่งเศสพยายามผลักดันให้มีการสั่งห้ามการสวมใส่เสื้อผ้าที่แสดงออกเชิงศาสนา ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายแสดงความกังวล เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมุสลิม
ในปี 2563 ทางการฝรั่งเศสสั่งห้ามการสวมผ้าคลุมหน้าของหญิงมุสลิมในที่สาธารณะ ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวในชุมชนมุสลิม ที่อยู่อย่างหนาแน่นในฝรั่งเศสกว่า 5 ล้านคน
ฝรั่งเศสบังคับใช้คำสั่งห้ามการแสดงออกเชิงศาสนาอย่างเข้มงวดในโรงเรียนต่างๆ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งรวมถึงสัญลักษณ์ของชาวคริสต์ อาทิ ไม้กางเขนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจำกัดอิทธิพลของศาสนจักรคาทอลิกต่อภาคการศึกษาสาธารณะ
ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงจำนวนประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปในฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ปรับปรุงกฎหมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีการสั่งให้กฎหมายสั่งห้ามการแสดงออกเชิงศาสนาอื่นๆ นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ รวมผ้าคลุมศีรษะของชาวมุสลิม และคิปปาของชาวยิวด้วย ก่อนที่จะมีการสั่งห้ามการสวมชุดอาบายาในครั้งนี้
ที่มา: