ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลัง ยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งหาแนวทางเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมเตรียมตั้งกองทุนช่วยเหลือ หลังพบเอสเอ็มอีที่เพิ่งตั้งตัวล้มหายตายจาก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่ามาตรการการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี มีความหลากหลายมาก ทั้งโครงสร้างธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนแล้ว หรือ รูปแบบที่พึ่งเริ่มต้นจากวิสาหกิจชุมชน หรือ การรวมกลุ่มที่มีจำนวนมาก รวมถึงรูปแบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และความแตกต่างกันในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความแตกต่างพอสมควรกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยต้องหามาตรการว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้รับทุนเพียงพอที่จะสามารถอยู่ได้ 

รมว.คลัง ยอมรับว่า กลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ายังไม่เข้มแข็ง ในเรื่องของเงินทุนขนาดไม่ใหญ่ หรือเป็นขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หากเป็นภาวะเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตได้ แต่ในภาวะเช่นนี้น่าจะเป็นที่น่าเสียดายมาก ว่าได้รับผลกระทบจนเดินต่อไปไม่ได้ และล้มหายตายจากไปในที่สุด โดยเรากำลังดูถึงความเป็นไปได้และรายละเอียดก่อน ว่าจะเป็นรูปของกองทุนซึ่งต่างจากสินเชื่ออื่นๆ และเงื่อนไขต่างๆที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไปในตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ โดยจะหารือผู้ประกอบการด้วยเพื่อกำหนดมาตรการในการดูแล โดยมีหลากหลายมาตรการได้นำเสนอออกมาแล้วในปัจจุบัน แต่เมื่อสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของเศรษฐกิจ จากที่รับฟังความเห็นและข้อชี้แนะต่างๆ จำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆออกมาต่อไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีการเสนอมาตรการที่คิดว่าจำเป็นในสถานการณ์ที่จะดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกับมาตรการนี้ โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งพิจารณากำหนดมาตรการนี้ออกมา โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม