นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ยืนยันว่า เอลนีโญได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้น่าจะทำให้ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ของโลก ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลอีกว่า เอลนีโญจะทำให้อุณภูมิโลกพุ่งสูงเพิ่มขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ที่นักวิทยาศาสตร์กำหนดเอาไว้ว่าอาจทำให้โลกเข้าสู่วิกฤต
นอกจากนี้ เอลนีโญยังจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโลก ซึ่งอาจนำความแห้งแล้งมาสู่ออสเตรเลีย ฝนตกมากขึ้นทางตอนใต้ของสหรัฐฯ และทำให้มรสุมของอินเดียอ่อนกำลังลง ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะดำเนินไปจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิหน้า หลังจากนั้นจะส่งผลกระทบต่อโลกลดลง
ในช่วงหลายเดือนมานี้ นักวิจัยมีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก “ตอนนี้มันกำลังเพิ่มขึ้น มีสัญญาณในการคาดการณ์ของเรามาหลายเดือนแล้ว แต่ดูเหมือนว่ามันจะมาถึงจุดสูงสุดในสิ้นปีนี้ในแง่ของความรุนแรง” อดัม สไคฟ์ หัวหน้าฝ่ายคาดการณ์ระยะยาวที่สำนักงาน อุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักรกล่าว
“สถิติใหม่ของอุณหภูมิโลกในปีหน้านั้น เป็นไปได้อย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะรุนแรงเพียงใด เอลนีโญครั้งใหญ่ในปลายปีนี้ มีโอกาสสูงที่เราจะสร้างสถิติอุณหภูมิโลกใหม่ในปี 2567” สไคฟ์ระบุ
เอลนีโญเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่สร้างความผันผวนอันทรงพลังที่สุด ในระบบภูมิอากาศของทุกพื้นที่บนโลก โดยปรากฎการณ์เอลนีโญความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ หรือ ENSO ประกอบไปด้วยอุณหภูมิ 3 ช่วง ได้แก่ ร้อน เย็น หรือเป็นปกติ
ช่วงสภาวะร้อนที่เรียกว่า เอลนีโญ จะเกิดขึ้นทุกๆ 2-7 ปี และน้ำอุ่นจะขึ้นสู่ผิวน้ำนอกชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ และแผ่กระจายไปทั่วมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดความร้อนจำนวนมากก่อตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ จากรายงานอากาศร้อน ซึ่งรวมถึงปี 2559 นับเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมันมักเกิดขึ้นในปีหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง
อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านสภาพอากาศทั่วโลกใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน เพื่อตัดสินว่าช่วงร้อนของเอลนีโญนี้จะมาถึงเมื่อใด โดยสำหรับการนิยามการเกิดเอลนีโญของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ นั้น ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้น เมื่อน้ำในมหาสมุทรมีความร้อนกว่าปกติ 0.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 เดือน โดยชั้นบรรยากาศจะต้องได้รับการตอบสนองต่อความร้อนนี้ และต้องมีหลักฐานว่าปรากฏการณ์ยังคงดำเนินอยู่
เงื่อนไขการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ สอดคล้องกันกับการแถลงเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ที่ออกมาระบุว่า "สภาวะเอลนีโญนั้นมาถึงแล้ว" มิเชลล์ ลอเรอซ์ นักวิทยาศาสตร์จาก NOAA ระบุ "นี่เป็นสัญญาณที่อ่อนมาก แต่เราเชื่อว่าเราเริ่มเห็นสภาวะเหล่านี้ และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น… อุณภูมิเพิ่มสูงขึ้น 0.8 องศาเซลเซียสในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าเดิมมาก"
นักวิจัยเชื่อว่าปรากฏการณ์เอลนีโญนี้มีโอกาส 84% ที่จะเกินค่าระดับปานกลางภายในสิ้นปีนี้ โดยพวกเขายังกล่าวอีกว่า มันมีโอกาสอยู่ 1 ใน 4 ที่เอลนีโญจะทำให้โลกมีอุณหภูมิเกิน 2 องศาเซลเซียสที่จุดสูงสุด ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงระยะของ "ซูเปอร์เอลนีโญ" อย่างไรก็ดี ผลกระทบของเอลนีโญอาจล่าช้ากว่าตัวปรากฏการณ์ 2-3 เดือน แต่มนุษย์จะรู้สึกได้ถึงผลกระทบไปทั่วทั้งโลก
นักวิจัยคาดว่าผลกระทบที่ตามมา จะรวมถึงสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าเดิมในออสเตรเลียและบางส่วนของเอเชีย รวมถึงมรสุมในอินเดียที่อ่อนกำลังลง นอกจากนี้ มลรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ จะมีอากาศชื้นขึ้นในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเอลนีโญจะทำให้สภาวะแห้งแล้งในแอฟริการุนแรงขึ้นกว่าเดิม
เอลนีโญจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อมนุษย์และเศรษฐกิจมหาศาล จากปรากฏการณ์สภาพอากาศที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยเอลนีโญที่รุนแรงในปี 2540-2541 สร้างความเสียหายไปเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีผู้เสียชีวิตจากพายุและน้ำท่วมประมาณ 23,000 ราย
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่เอลนีโญในปีนี้ จะส่งผลให้ปี 2567 กลายเป็นเป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลกจากสถิติเดิมในปี 2559 โดยในขณะนี้ อุณหภูมิโลกเพิ่มขี้นอยู่ประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2393-2443 แต่เหตุการณ์เอลนีโญอาจเพิ่มอุณหภูมิโลกขึ้นถึง 0.2 องศาเซลเซียส
จากตัวเลขดังกล่าว เอลนีโญจะส่งผลให้โลกเข้าสู่เขตอุณหภูมิที่ไม่เคยมีมาก่อน และใกล้จะทะลุเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของข้อตกลงด้านสภาพอากาศของกรุงปารีส ที่ทุกชาติจะต้องพยายามรักษาเอาไว้ ไม่ให้อุณภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มสูงเกินกว่านั้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยกล่าวว่าการทำลายขีดจำกัดนี้ชั่วคราว มีแนวโน้มจะเกิดมากกว่าไม่เกิดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ที่มา: