หนังสือพิมพ์อาห์รามที่รัฐบาลอียิปต์เป็นเจ้าของ รายงานอ้างอิงคำแถลงของ เรดา เฮกาซี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอียิปต์ ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ก.ย.) ว่า นักเรียนหญิงในอียิปต์มีสิทธิ์ “เลือกได้” ว่าพวกเธอจะคลุมฮิญาบหรือผ้าคลุมผมไปโรงเรียนหรือไม่ อย่างไรก็ดี คำแถลงระบุเพิ่มเติมว่า การคลุมผมจะต้องไม่มีการปกปิดใบหน้าของผู้สวมผ้า
“การคลุมผมทุกรูปแบบที่ฝ่าฝืนสภาพใบหน้าที่มองเห็นได้นั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และการคลุมผมควรใช้ผ้าที่เป็นสี ซึ่งกระทรวงและกองการศึกษาท้องถิ่นกำหนด” รายงานกล่าวเสริม ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่ในปีการศึกษานี้ของอียิปต์ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 30 ก.ย. และจะดำเนินไปถึงวันที่ 8 มิ.ย. 2567
ผู้จัดการฝ่ายขายชายวัย 33 ปีรายหนึ่งในเมืองอเล็กซานเดรีย กล่าวว่าเขาต่อต้านการสวมผ้านิกอบในโรงเรียน เพราะผ้าคลุมหน้าได้บดบังสิ่งที่ควรเป็นกระบวนการศึกษาที่ “โปร่งใส” เขายังกล่าวอีกว่า “สิ่งใดก็ตามที่ปิดบังครู จากการอ่านภาษากาย และการแสดงออกทางสีหน้าของนักเรียนอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือพวกเขา หรือแสดงความสนใจที่จำเป็น ไม่ควรได้รับอนุญาตในโรงเรียน”
สถาปนิกชายชาวเมืองอเล็กซานเดรียวัย 38 ปี ซึ่งเห็นด้วยกับคำสั่งห้ามของรัฐบาลอียิปต์ในครั้งนี้ กล่าวว่าการดำเนินการตามการตัดสินใจนี้ เป็นสิ่งจำเป็นจากมุมมองด้านความปลอดภัย “เจ้าหน้าที่โรงเรียนควรจะสามารถระบุตัวผู้ที่เข้าและออกจากโรงเรียนได้” นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่านักเรียนที่สวมผ้านิกอบส่วนใหญ่ แปลกแยกออกจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน
ตามแถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการอียิปต์ นักเรียนควรตัดสินใจคลุมผมของเธอ “ตามความปรารถนาส่วนตัวของเธอเอง โดยไม่มีแรงกดดันหรือบังคับจากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใด นอกเหนือจากผู้ปกครอง” ซึ่งเป็นคำแถลงที่อ้างอิงอย่างชัดเจน ถึงกลุ่มเคร่งศาสนาอิสลามในพื้นที่ท้องถิ่น นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้ปกครองควรได้รับแจ้งถึงตัวเลือกของลูกสาว และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความเข้าใจของผู้ปกครอง เกี่ยวกับตัวเลือกของนักเรียนในประเด็นนี้
อย่างไรก็ดี นักเขียนหญิงวัย 45 ปี จากกรุงไคโร แสดงความเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลต่อกรณีล่าสุด ทำให้ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ "กระสอบทราย... ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ" เธอกล่าวเสริมอีกว่า “ในขณะที่ฝรั่งเศสสั่งห้ามการสวมอาบายา (ชุดยาวคลุมตัว) และบูร์กินี (ชุดว่ายน้ำคลุมทั้งตัว) อียิปต์จึงปฏิบัติตามการสั่งห้ามนิกอบ และก่อนหน้านั้นศาลฎีกาของสหรัฐฯ ได้ล้มล้าง Roe v Wade และกลุ่มตาลีบันยังคงจำกัดและกดทับผู้หญิงจากการใช้ชีวิตโดยทั่วไปอย่างรุนแรง การกำกับเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงยังดำเนินต่อไป”
วิศวกรโยธาชายวัย 33 ปี ยังแสดงการสนับสนุนผู้หญิงที่จะสวมนิกอบไปโรงเรียน “เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพของทุกคน” เขายังย้ำด้วยว่า “อียิปต์เป็นประเทศมุสลิม” และระบุเสริมว่าเขาเชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะลบอัตลักษณ์ของประเทศ ด้วยการตัดสินใจตามนโยบายเช่นนี้ และรัฐบาลได้ทำการตัดสินใจในครั้งนี้ “เพื่อเพิ่มความมั่นคงในทุกด้าน ซึ่งผมพบว่าขัดต่อสิทธิมนุษยชน”
ฮิญาบซึ่งเป็นผ้าคลุมผมของผู้หญิงแบบไม่คลุมใบหน้านั้น ได้รับการสวมใส่กันอย่างแพร่หลายในอียิปต์ ในขณะที่การสวมนิกอบ ซึ่งเป็นผ้าคลุมผมแบบปกปิดใบหน้านั้น ได้รับการสวมใส่โดยผู้ที่มีภูมิหลังเป็นกลุ่มคนอนุรักษ์นิยมด้านศาสนาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในสังคมอียิปต์ เกี่ยวกับการสวมนิกอบในพื้นที่สาธารณะ และสถาบันการศึกษามาเป็นเวลานาน โดยมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งในอียิปต์ที่กำหนดคำสั่งห้ามการสวมนิกอบ
ก่อนหน้านี้ ในปี 2558 มหาวิทยาลัยไคโรออกคำสั่งห้ามการสวมนิกอบสำหรับเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนในปีต่อๆ มา จากคำตัดสินโดยฝ่ายตุลาการของอียิปต์เมื่อปี 2559 และ 2563 แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งก็ตาม อย่างไรก็ดี ข้อเสนอในการสั่งห้ามสวมนิกอบ ที่เสนอในรัฐสภาอียิปต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถูกถอนร่างออกหรือถูกปฏิเสธจากการลงมติ
ที่มา: