ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการชี้การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้เปลี่ยนผ่านสังคมไทยสู่ประชาธิปไตย แต่ได้ทำลายทุกองคาพยพทางการเมือง ปูทางสู่การสืบทอดอำนาจ คสช.เท่านั้น และยังหวั่นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 จะนำสู่วิกฤติการเมืองด้วย

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ธรรมศาสตร์ - นิติพัฒน์ ครั้งที่ 4 โดยมีการเสวนา "การเลือกตั้งกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย"

ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะรัฐศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า หลังเลือกตั้งและเมื่อได้รัฐบาลกับคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือเป็นข้อดีการเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้มาตรา 44 จะหายไปและยังมี ส.ส.หน้าใหม่รวมถึงความขัดแย้งจะถูกแก้ในเวทีรัฐสภา 

ส่วนข้อเสียจากการเปลี่ยนผ่านภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญปีิ 2560 คือ บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับองค์กรอิสระที่ถูกเซตซีโร่บางองค์กร เป็น"รอยด่าง" ที่ส่งทอดมาสู่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงระบบเลือกตั้งและสูตรคำนวณ ส.ส.ที่มีปัญหา เช่น ส.ส.รายงานตัวต่อสภาแล้ว แต่อาจต้องพ้นตำแหน่งได้เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมและอื่นๆ เมื่อผลคะแนนเสียงเปลี่ยนแปลงไป ส่วนที่มาของ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งและกรรมการสรรหายังตั้งตัวเองเป็น ส.ว.ได้อีก ขณะที่การตรวจสอบกระบวนการสรรหาทั้งช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลปกครองล้วนทำไม่ได้ ขณะที่ปัญหากลไกการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจที่บกพร่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประเด็นพื้นฐานของความขัดแย้งทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนี้องค์กรอิสระที่ใกล้ชิดกับฝ่ายบริหาร และจะนำสู่วิกฤตอย่างที่เคยเกิดในรัฐธรรมนูญปี 2540

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายโดยเทียบเคียงรัฐธรรมนูญปี 2560 กับหลายฉบับก่อนหน้า ระบุว่า การเมืองไทยถอยหลังไป 40-50 ปี เลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 2521 และแย่กว่าฉบับปี 2511 หลายด้าน ไทยจึงยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นระบบการเมือง Hybrid ที่มี ส.ว.จากการแต่งตั้ง เป็นสภาคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าหลักการปกครองโดยกฎหมายต่างจากการใช้อำเภอใจ จึงต้องแบ่งแยกอำนาจเป็น นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ แต่มาตรา 44 รวบ 3 อำนาจไว้ที่คน ๆ เดียว จึงทำให้ทั้งการเลือกตั้ง การประกาศผลและได้รัฐบาลใหม่ล่าช้า ที่สำคัญไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.เพียงแต่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเท่านั้น 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึง ปัญหาในทางปฏิบัติของระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว คือ ทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการเลือก ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มาจากคนละพรรคการเมืองกัน เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญ ได้บังคับให้ประชาชนเลือกทั้งคนและพรรคในบัตรใบเดียว และที่เลวร้ายที่สุด คือ การเอาคะแนนเสียงเดียวมาคิด ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ ทำให้คะแนนไม่นิ่ง กระทบสถานภาพของ ส.ส.ในสภา

ด้านนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้นำสู่หรือสร้างความตั้งมั่นของประชาธิปไตยได้ แต่นำสู่การถดถอยของทุกองค์ประกอบทางการเมืองไทยรวมถึงระบบยุติธรรมไทยด้วย โดยการชี้วัดจากทั้งก่อน-หลังและระหว่างการเลือกตั้ง ล้วนมีแต่ความผิดปกติอย่างชัดเจนและด้วยความจงใจของผู้มีอำนาจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ต่างรับรู้ได้ และทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมในการเข้าสู่อำนาจรัฐมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นายศิโรตม์ ยืนยันว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงพิธีกรรม หรือ "นาฏรัฐ" ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจ คสช.เท่านั้น ซึ่งจะเรียกระบบการเมืองเช่นนี้ว่า Hybrid ที่มีความหมายในแง่ความก้าวหน้านั้น ไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะการเลือกตั้งใต้รัฐธรรมนูญนี้ทำให้ทุกอย่างถดทอยย่ำแย่ลงหมด ทั้งในเชิงสถาบัน, ระบบความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมองว่า หัวใจขององค์กรอิสระยุคนี้ จะมุ่งเพิ่มอำนาจรัฐ ไม่ได้ตรวจสอบถ่วงดุลหรือลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น และรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้

นายศิโรตม์ เสนอว่า แม้อนาคตอันใกล้ประชาธิปไตยจะยังไม่กลับมา แต่ในเบื้องต้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันสังคมไทยให้กลับสู่ภาวะปกติ คือ การเป็นสังคมเปิด ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ รวมถึงพื้นที่ทางวิชาการและสื่อสารมวลชน สร้างการถกเถียงที่มีเหตุมีผลกลับคืนมา เพื่อโอกาสที่ประชาธิปไตยจะกลับมาได้