ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ด ขสมก. สั่งเบรกขึ้นค่าโดยสารรถเมล์รุ่นเก่าที่จะมีผลวันที่ 21 ม.ค. นี้ แต่รถเอ็นจีวีและรถร่วมฯ ขสมก. ปรับตามปกติ พร้อมมีมติเห็นชอบติดตั้งไว-ไฟ บนรถเมล์ยกระดับการบริการ ส่งเสริมให้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ขสมก.ได้ประกาศปรับค่าโดยสาร ตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง โดยจะมีผลในวันที่ 21 ม.ค. 2562 แต่หลังจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีความเป็นห่วง และต้องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น ขสมก. จะชะลอการปรับค่าโดยสาร ในส่วนที่เป็นรถเก่าออกไปก่อน

ส่วนรถโดยสารปรับอากาศรุ่นใหม่ (สีฟ้า) หรือรถเมล์ NGV จะปรับตามที่ได้ประกาศไว้ คือ ระยะทาง 4 กิโลเมตรแรก เก็บไม่เกิน 15 บาท, ระยะทาง 4-16 กิโลเมตร เก็บไม่เกิน 20 บาท, ระยะทาง 16 กิโลเมตรขึ้นไป เก็บไม่เกิน 25 บาท เนื่องจากเป็นรถโดยสารรุ่นใหม่ ที่มีการให้บริการที่สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งจะเร่งหารือกระทรวงคมนาคมให้รับทราบ

สำหรับรถรุ่นเก่า ได้แก่ รถโดยสารธรรมดา (ครีม-แดง) ยังคงเก็บ 6.50 บาทตลอดสาย รถโดยสารปรับอากาศ (ครีมน้ำเงิน) ยังเก็บ 10-18 บาท ตามระยะทาง และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู (สีส้ม) และรถปรับอากาศเชื้อเพลิง NGV (สีขาว) 11-23 บาท ตามระยะทาง

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะไม่รวมรถร่วมบริการเอกชน แต่อย่างใด ซึ่งรถร่วมฯ ขสมก.จะปรับค่าโดยสารในวันที่ 21 ม.ค. นี้ตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางเหมือนเดิม

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้อนุมัติให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง นัดพิเศษขึ้น เพื่อมีมติชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารของรถเมล์ ขสมก. 1-2 บาท ซึ่งจากเดิมจะมีผลวันที่ 21 ม.ค. นี้ ออกไปก่อน หลังที่ คนร. สั่งให้ชะลอการปรับราคา

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขสมก.ได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทราบความคืบหน้าการรับมอบรถเมล์เอ็นจีวี 300 คัน และที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือน มี.ค. 2562 และจะจัดหาครบ 3,000 คัน ภายในปี 2565 มีการติดตั้งระบบจีพีเอสในรถครบถ้วนแล้ว เหลือติดตั้งระบบ E-Ticket สายต่างๆ ที่ยังล่าช้า

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การและรักษาการ ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า จะทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก เรื่องการไม่ปรับขึ้นราคารถเมล์ต่อไป ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 300 คัน และอีก 189 คัน ที่กำลังจะส่งมอบนั้นอาจใช้เกณฑ์ราคาใหม่ แต่ต้องหารือกันภายในอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ได้มีมติเห็นชอบโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือไว-ไฟบนรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. ทั้งหมด 2,800 คัน เพื่อยกระดับงานบริการควบคู่การส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายใน 6 เดือน จะสร้างรายได้ให้ ขสมก. 100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 5 ปี ขณะนี้ได้บริษัทลงทุนแล้ว

ด้าน นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จะเสนอผลการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟและรถไฟฟ้าในปัจจุบันให้กรมการขนส่งทางบก ภายใน 1 เดือนและส่งต่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจ รายได้และกำลังการบริโภคคนกรุงเทพฯ พบว่าประชากรครึ่งหนึ่งหรือราว 4-5 ล้านคน ไม่สามารถรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันได้ และปัญหานี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ จึงขอให้รัฐบาลควบคุมโครงสร้างค่าโดยสารอย่างเป็นระบบ ทั้งเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่ เช่นเดียวกับการคุมค่ารถเมล์ที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยต้องไม่ปล่อย ให้ค่าโดยสารลอยตัวเช่นในปัจจุบัน เช่น ยกตัวอย่างผู้มีรายได้ขั้นต่ำราว 1-1.5 หมื่นบาท อาทิ ค่าเฉลี่ยค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสายอยู่ที่ 42 บาท หากเดินทางเข้าเมืองต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกสายจะเป็น 84 บาท/เที่ยว หรือ 168 บาท/วัน คิดเป็น 3,360 บาท/เดือน กรณีมีวันทำงาน 20 วัน/เดือน เฉพาะแค่ค่ารถไฟฟ้าคิดเป็น 33.6% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเกินไป

ขณะที่ ค่าโดยสารรถไฟธรรมดาควรปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยรถไฟชั้น 3 ราคาเริ่มต้นเพียง 2 บาท ซึ่งไม่ได้ปรับ มากว่า 20 ปีแล้ว จึงควรปรับเพิ่มตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอที่ 10 บาท สำหรับราคารถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ควรมีราคาเฉลี่ยที่ 20-30 บาท/เที่ยว และควรเป็นรถไฟเส้นทางที่ถูกที่สุดเพราะช่วยผู้มีรายได้น้อย เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีราคา 45 บาทตลอดสายถือว่าถูกที่สุดในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :