ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติเรื่องการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
กรณีที่ประชุมรัฐสภา ใช้เกม “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา” ข้อที่ 41 ปิดทางชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ให้มีเสนอชื่อซ้ำรอบ 2 หลังจากถูกที่ประชุมรัฐสภาตีตกไปแล้วในคราวแรก
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ ใน 2 ประเด็น
1.ผู้ร้องเรียน (สมาชิกรัฐสภาและประชาชน คำร้องขอ) ระบุว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง จากการกระทำของรัฐสภา ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐที่ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และมติตีความของรัฐสภาที่เกิดขึ้น มีผลเป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ
2.ผู้ร้องเรียนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
“หากรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ต่อมาภายหลังแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ร้องเรียนก็ไม่อาจจะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่ได้เคยเสนอชื่อต่อรัฐสภาได้อีกต่อไป ดังนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน”
“เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันมีน้ำหนักรับฟังได้ มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.ปว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 71 จึงเห็นพ้องกับคำร้องเรียนที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์”
นี่คือเหตุผลประกอบคำร้องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แต่ดูเหมือนว่า ทุกฝ่ายในเวลานี้มองข้ามช็อตไปไกลถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี 4 ส.ค. 2566 โดยไม่หันกลับมามองวันที่ 3 ส.ค. อันเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับ – ไม่รับคำร้อง
แหล่งข่าวในฝ่ายนิติบัญญัติรายหนึ่ง เชื่อมั่นว่า ได้รับสัญญาณว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง จึงมีการประเมินกันว่า กระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 4 ส.ค. 2566 จะ “ม้วนเดียวจบ” ไม่มีอะไรมาขวาง
เหตุผลก็เพราะ มั่นใจว่า ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ก้าวล้ำอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง หรือวินิจฉัยให้การลงมติของรัฐสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อไปก็จะเป็นบรรทัดฐานให้ ‘ฝ่ายเสียงข้างน้อย’ ใช้เป็นข้ออ้างยื่นศาลตีความมติที่ฝ่ายตัวเองเป็นฝ่ายแพ้ คราวนี้ทุกการโหวตในรัฐสภาก็จะปั่นป่วน” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 15/2565ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) กับ วุฒิสภา (ผู้ถูกร้อง)
เป็นกรณีที่ รัชนันท์ ธนานันท์ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และที่ประชุมวุฒิสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม 2 ครั้ง แต่วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบให้ผู้ร้องเรียนดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจของวุฒิสภา
ซึ่งวุฒิสภา ในฐานะผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตอนหนึ่งว่า ผลการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาทั้งสองครั้งไม่ให้ความเห็นชอบให้ผู้ร้องเรียนดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคสาม หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2562
โดยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ตอนหนึ่งว่า “การให้ความเห็นชอบของผู้ถูกร้องวุฒิสภามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ วุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทกลั่นกรองผู้มีความเหมาะสมและสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ศาลปกครองเป็นองค์กรตรวจสอบหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการยอมรับนับถือจากคู่กรณี”
นอกจากนี้ ศาลยังวินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) พิจารณาคัดเลือกบุคคลสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้วให้เสนรายชื่อดังกล่าวต่อนายกฯ และให้นายกฯ นำรายชื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภา จากนั้นวุฒิสภาจะดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2562 โดยตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น การให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาเป็นเพียงขั้นตอนเกิดขึ้นภายหลัง ก.ศป.พิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด
โดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก่อนที่นายกฯ นำความกราบบังคบทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นกระบวนการกลั่นกรอง โดยเริ่มต้นขึ้นภายหลังรับรายชื่อจากนายกฯ และสิ้นสุดลงเมื่อมีการพิจารณาลงมติ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2562
จากคำวินิจฉัย จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจของวุฒิสภา ที่พิจารณาตามข้อบังคับการประชุม
นอกจากนี้ ยังเคยมีคำวินิจฉัยที่รัฐสภาสงสัยในอำนาจของตนเองและให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจมาแล้ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ก้าวล้ำเขตแดนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
ตัวอย่างเช่น คำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมี ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เสนอญัตติ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก ตัดสินว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น จึงสามารถมองข้ามช็อตไปถึงวันโหวตนายกฯ 4 ส.ค. 2566 รวดเดียวจบ