ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "การกำเนิดบริสุทธิ์" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในนก ปลา และสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ดี ไม่เคยมีรายงานการเกิดบริสุทธิ์มาก่อนในจระเข้ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเกิดในลักษณะนี้อาจสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่มีสายวิวัฒนาการเดียวกัน ดังนั้น ไดโนเสาร์จึงอาจมีความสามารถในการสืบพันธุ์ด้วยตัวมันเองเช่นกัน
จระเข้อเมริกันเพศเมียอายุ 18 ปีวางไข่ของมันออกมาในสวนสัตว์เลื้อยคลานเมื่อเดือน ม.ค. 2561 โดยตัวอ่อนในไข่มีรูปร่างสมบูรณ์ และยังไม่ตายแม้จะยังไม่ฟักเป็นตัวออกมา
ทั้งนี้ จระเข้ที่วางไข่ตัวนี้ได้รับมายังสวนสัตว์เลื้อยคลาน เมื่อมันมีอายุได้ 2 ปี และถูกแยกออกจากจระเข้ตัวอื่นตลอดชีวิต และด้วยเหตุนี้ ทีมวิทยาศาสตร์ของอุทยานจึงติดต่อทีมจากเวอร์จิเนียโพลีเทคนิคของสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการคลอดบริสุทธิ์ หรือที่เรียกกันในทางวิทยาศาสตร์ว่าพาร์ธีโนเจเนซิส เข้ามาศึกษาเหตุประหลาดในครั้งนี้
จากผลการศึกษา นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ตัวอ่อนในไข่ และพบว่ามันมีพันธุกรรมเหมือนกับแม่มันมากกว่า 99.9% ซึ่งช่วยยืนยันว่ามันไม่มีพ่อ
ในการเขียนรายงานของวารสาร Royal Society Biology Letters นักวิจัยกล่าวว่าการเกิดบริสุทธิ์อาจพบได้บ่อยในจระเข้ และไม่มีใครสังเกตเห็นจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะผู้คนไม่ได้มองหาตัวอย่างของพวกเขา
"มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่สัตว์เลื้อยคลานที่เลี้ยงไว้จะวางไข่ เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาที่แยกจากคู่ครอง ไข่เหล่านี้มักจะถูกพิจารณาว่าไม่มีชีวิตและถูกทิ้งไป การค้นพบนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ไข่ควรได้รับการประเมินสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจมีชีวิต เมื่อไม่มีตัวผู้อยู่" นักวิทยาศาสตร์กล่าวในเอกสารการวิจัย "นอกจากนี้ เนื่องจาก (การกำเนิดบริสุทธิ์) สามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์ที่มีคู่ครอง ดังนั้นกรณีนี้อาจถูกสังเกตพลาดไป เมื่อการเกิดในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในตัวเมียที่อยู่ร่วมกับตัวผู้"
ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใดการเกิดแบบพาร์ธีโนเจเนซิส จึงเกิดขึ้นในสปีชีส์ต่างๆ ทั้งนี้ มีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่า การกำเนิดบริสุทธิ์เกิดขึ้นในสปีชีส์ ที่มีความสามารถในการสร้างพาร์ธีโนเจเนซิสได้ เมื่อพวกมันมีจำนวนประชากรลดน้อยลง และใกล้จะสูญพันธุ์
"หลักฐานใหม่นี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความสามารถในการสืบพันธุ์ที่เป็นไปได้ของญาติของจระเข้ที่สูญพันธุ์" นักวิทยาศาสตร์ระบุ "โดยเฉพาะอย่างยิ่งไดโนเสาร์"
ที่มา: