ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนแนวคิด นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปิดอุทยานแห่งชาติ 157 แห่ง เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า เป็นเวลา 3 เดือนในทุกปี โดยผศ.ดร.ธรณ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า แนวคิดปิดอุทยานปีละ 3 เดือนของนายวราวุธ ถือเป็นแอคชันของ new normal หลังโควิด
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจต้องวางแผนให้รอบคอบและครบถ้วน โดยเฉพาะอุทยานทางทะเล เพราะอุทยานทางทะเล 26 แห่งของประเทศไทย ตั้งอยู่กระจายไปทุกพื้นที่ มีทรัพยากรต่างกัน มีการใช้ประโยชน์ต่างกัน บางอุทยาน เช่น "ลำน้ำกระบุรี" พูดชื่อไปแทบไม่มีใครรู้จัก มีนักเที่ยวทั้งปีแค่หลักหมื่น ขณะที่บางอุทยาน เช่น พีพี เกาะเสม็ด สิมิลัน ฯลฯ มีนักท่องเที่ยวหลักแสน บางแห่งถึงหลักล้าน
แนะจำแนกรายอุทยาน-ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยว
แม้แต่อุทยานที่มีคนเยอะ กลุ่มนักท่องเที่ยวก็ต่างกัน บางแห่ง 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นต่างชาติ บางแห่งไทยครึ่งต่างชาติครึ่ง บางแห่งไทยเยอะต่างชาติน้อย บางอุทยานปิดตามฤดูอยู่แล้ว เช่น สิมิลัน สุรินทร์ ปีละเกิน 3 เดือน บางแห่งปิดบางพื้นที่ในบางฤดูกาล เช่น ลันตาปิดเกาะรอก ฤดูมรสุม แต่อุทยานยังเปิดอยู่ เป็นต้น โดยอุทยานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล เอาเฉพาะภูเก็ตก็ปีละ 4.4 แสนล้าน
ดังนั้นการอนุรักษ์ที่รอบคอบ จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดีงาม และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หากอยากทำเช่นนั้นต้องมองครบทุกมุม จากนั้นดูในภาพใหญ่รวมกัน โดยแบ่งให้ถูกต้อง เช่น กลุ่มนักเที่ยวภูเก็ตไปไหน กระบี่ไปไหน เพราะบางวันไม่ได้เข้าแค่อุทยานเดียว ภาพใหญ่ยังอาจสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว จะมีคลัสเตอร์อยู่แล้ว เช่น อันดามัน สมุย ตะวันออก เป็นต้น
ย้ำต้องพัฒนาอย่างรอบคอบ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมพื้นที่
ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อข้อมูลฐานเรียบร้อย ค่อยขยับขึ้นมาเป็นลำดับ จากกรมมากระทรวง เพราะทะเลไทยไม่ได้มีเพียงอุทยาน พื้นที่ธรรมชาติสำคัญอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทะเล สัตว์หายากที่เข้ามา หลายพื้นที่ไม่ใช่อุทยาน เช่น เต่ามะเฟืองเกินครึ่งออกไข่นอกเขตอุทยาน พะยูนบ้านเพว่ายข้างนอก แน่นอนว่าหากเริ่มจากอุทยานที่มีกฎหมายชัดเจนอยู่เป็นเรื่องดี
แต่นี่เป็นขั้นแรกยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องมองในภาพรวม เมื่อได้แผนว่าจะปิดเปิดที่ไหนอย่างไร ลองกลับไปที่พื้นที่พูดคุยปรับเปลี่ยนให้เหมาะจากนั้นส่งมารวมกันอีกที แล้วค่อยลงมือทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าซับซ้อนและกินเวลาพอสมควร และไม่ง่ายเหมือนแค่สั่งไปให้แต่ละอุทยานหาเวลาปิด 3 เดือนมา จากนั้นก็เอามารวมกันแล้วออกประกาศ
อย่างไรก็ดีตนสนับสนุนแนวคิดของนายวราวุธ ที่สอดคล้องกับกระแสคนไทยที่อยากรักษาธรรมชาติไว้ให้อยู่ต่อไปนานๆ แต่ตนทราบดีว่าพอถึงเวลาจริง หากไม่รอบคอบก็จะเจอกระแสต้าน ดังนั้นหากเรารอบคอบ เริ่มต้นแบบเหนื่อยหน่อย เราจะได้ระบบที่ดีและถาวรและการอนุรักษ์จะไปคู่กับการพัฒนาได้
อ่านเพิ่มเติม