สถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และผู้เสียชีวิตจากอาการเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเว็บไซต์ Worldometer รายงานสถานการณ์ของโรคแบบเรียลไทม์ อ้างอิงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า สถิติผู้เสียชีวิตทั่วโลกสูงกว่า 102,000 ราย ในวันที่ 11 เม.ย.2563
ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ติดเชื้อ 502,876 ราย เสียชีวิต 18,747 ราย) ตามด้วย สเปน (ติดเชื้อ 158,273 ราย เสียชีวิต 16,081 ราย) อิตาลี (ติดเชื้อ 147,577 ราย เสียชีวิต 18,849 ราย) ฝรั่งเศส (ติดเชื้อ 124,869 ราย เสียชีวิต 13,197 ราย เยอรมนี (ติดเชื้อ 122,171 ราย เสียชีวิต 2,736 ราย)
จีน (ติดเชื้อ 81953 ราย เสียชีวิต 3,339 ราย) อังกฤษ (ติดเชื้อ 73,758 ราย เสียชีวิต 8,958 ราย) อิหร่าน (ติดเชื้อ 68,192 ราย เสียชีวิต 4,232 ราย) ตุรกี (ติดเชื้อ 47,029 ราย เสียชีวิต 1,006 ราย) เบลเยียม (ติดเชื้อ 26,667 ราย เสียชีวิต 3,019 ราย) และ สวิตเซอร์แลนด์ (ติดเชื้อ 24,551 ราย เสียชีวิต 1,002 ราย)
ขณะที่ ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในการแถลงข่าวที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 10 เม.ย. ว่า 'บุคลากรการแพทย์' เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้สถิติบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และประเทศต่างๆ ต้องปกป้องบุคลากรเหล่านี้อย่างจริงจัง
ขาดการฝึกอบรม-อุปกรณ์ป้องกันไม่พอ ทำบุคลากรเสี่ยงภัย
WHO ระบุว่า สาเหตุที่บุคลากรการแพทย์ทั่วโลกเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด เป็นเพราะระบบสาธารณสุขในหลายประเทศไม่มีการฝึกอบรมหรือให้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์แก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ บุคลากรจำนวนมากจึงขาดประสบการณ์ในการวินิจฉัยแยกแยะอาการ โดยเฉพาะอาการของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จึงประเมินผู้ติดเชื้อได้ล่าช้า ทำให้การป้องกันและรับมือล่าช้าไปด้วย
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ จำนวนผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยมีมากจนเกินไป ทำให้บุคลากรการแพทย์ต้องรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดโดยไม่ได้พักผ่อน ประกอบกับไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่เพียงพอ หรืออุปกรณ์ที่มี 'ด้อยประสิทธิภาพ' อีกทั้งหลายประเทศขาดระบบตรวจสอบและป้องกันการแพร่เชื้อโรคในสถานพยาบาล ทำให้บุคลากรการแพทย์กลายเป็น 'กลุ่มเสี่ยง' ขณะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่
หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป จะกระทบต่อการควบคุมและป้องกันโรคระบาด รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องยกระดับการฝึกอบรมบุคลากรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะด่านหน้าเพื่อให้เข้าใจและสามารถแยกแยะอาการของโรคระบบทางเดินหายใจได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจะสามารถป้องกันตัวเองและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้ยังต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอแก่บุคลากรทั่วโลก ซึ่ง WHO ประเมินว่าในแต่ละเดือน บุคลากรการแพทย์ต้องการอุปกรณ์ป้องกันเป็นจำนวนมาก เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 89 ล้านชิ้น เสื้อกาวน์ 30 ล้านตัว แว่นก็อกเกิล 1.59 ล้านชิ้น ถุงมือ 79 ล้านคู่ และน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับล้างมือ 2.9 ล้านลิตร
ส่วนสุขภาพร่างกายและจิตใจของบุคลากรการแพทย์ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นกัน แม้จะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องได้รับการจัดสรรเวลาเพื่อการพักผ่อนที่เพียงพอ และต้องได้รับคำปรึกษาด้านสภาพจิตใจด้วย เพราะความแข็งแรงของบุคลากรการแพทย์จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลและควบคุมโรคเช่นกัน
พบผู้ติดเชื้อ 'ไวรัสอีโบลา' รายใหม่ใน 'ดีอาร์คองโก'
ขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 แพทย์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์คองโก ก็ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลารายใหม่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน
ดร.เทดรอส ระบุว่า ข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แต่เชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังควบคุมได้ เพราะทีมของ WHO ยังอยู่ในเมืองเบนี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการติดเชื้อไวรัสอีโบลารายใหม่ และคาดว่าจะรับมือกับการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นระลอกใหม่ได้อย่างทันเวลา
ไวรัสไข้เลือดออกอีโบลา เคยถูก WHO ประกาศเป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอยู่ช่วงหนึ่ง หลังพบการแพร่ระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตกช่วงปี 2556-2558 แม้การแพร่ระบาดจะพ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสให้หมดไปจากภูมิภาคนี้ได้
ส่วนการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสอีโบลาที่พบในดีอาร์คองโก เกิดขึ้นประมาณ 18 เดือนก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2,276 ราย และผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวจนหายอีก 3,456 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: