ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์ความไม่สงบเรื้อรัง 19 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่แค่ตัวเลขของความสูญเสีย แต่ยังทิ้งปัญหา 'แม่เลี้ยงเดี่ยว' ที่เพิ่มขึ้นในไฟแห่งความรุนแรง

นับตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน ในตัวเลขของเหตุการณ์ความมั่นคง 10,376 ครั้ง มีผู้สูญเสียชีวิต 4,160 ราย บาดเจ็บ 11,169 ราย ยังส่งต่อผลกระทบผู้หญิงในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลองค์กรผู้หญิงปาตานี (PERWANI) ในเดือนสิงหาคม 2565 มีแม่เลี้ยงเดี่ยวรวมทั้งสิ้น 2,206 คน

  • สามีเสียชีวิต 759 คน
  • สามีถูกคุกคามต้องหนี 1,179 คน
  • สามีอยู่ในเรือนจำอีก 268 คน

แบ่งเป็นพื้นที่ นราธิวาส 930 คน, ปัตตานี 882 คน และยะลา 394 คน 

ตัวเลขเหล่านี้คือกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องเผชิญแรงกดดัน จากภาระที่ไร้การเหลียวแลโดยภาครัฐ เพราะถูกตีตราเป็น ‘แม่โจร’ หรือ ‘เมียผู้ก่อการร้าย’ แต่ในมุมกลับ สิ่งที่พวกเธอได้รับคือการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ แม้ว่าผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นผู้สูญเสีย เช่นเดียวกับครอบครัวของฝ่ายความมั่นคงก็ตาม

‘วอยซ์’ ชวนทำความเข้าใจและสัมผัสถึงปัญหาของ ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ล้วนเป็นเหยื่อจากความรุนแรง จนพวกเธอถูกผลักออกมาเป็นเสาหลักของครอบครัว และถูกจับตาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ


ทุกข์ระทมคนเป็นแม่

รุ่งสางของวันที่ 28 เม.ย. 2547 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เกิดเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ 11 จุด มีผู้เสียชีวิต 108 คน รวมเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ราย ซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่มัสยิสกรือเซะ จ.ปัตตานี เนื่องจากผู้ก่อเหตุหลบเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว โดยมีการปิดล้อมหลายชั่วโมง ก่อนกองกำลังความมั่นคงใช้อาวุธสงครามบุกโจมตี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-20 ปี 

“หนึ่งในนั้นก็คือลูกชาย คำว่าปะทะก็ไม่ใช่ปะทะ เพราะว่าที่โดนก็คือเยาวชนทั้งนั้นเลย” ‘รวยนะห์’ ครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งของ จ.ยะลา และเป็นแม่เยาวชนที่เสียชีวิตในมัสยิสกรือเซะ ทวนความทรงจำในวันที่ต้องสูญเสียลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ผู้ที่เธอวาดหวังไว้ว่าจะเติบโตขึ้นมา เป็นเสาหลักของครอบครัว 

“อยู่กันสามคนแม่ลูก ความที่เราหวังกับลูก กว่าจะทำใจได้ก็หลายเดือน แต่ไม่เป็นไรเขาไปสบายแล้ว” คำอธิบายพร้อมหยดน้ำตาของมารดา ในระหว่างนั้นเธอก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ โดยไม่มีคำขอโทษ ไม่มีคำอธิบายใดๆจากเจ้าหน้าที่ 

Q_03.jpg

ต่อมาในปี 2555 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศให้เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 7.5 ล้าน 

เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้ามาพูดคุยกับ ‘รวยนะห์’ และชี้แจงว่าจะได้รับเงินเพียง 4 ล้านบาท ทำให้เธอตั้งคำถามว่าทำไมเหตุการณ์อื่นในวันที่ 28 เม.ย. 2547 ได้เต็มจำนวน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อหาคำตอบ

ปี 2557 รวยนะห์ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการเปิดผนึกจดหมายที่มัสยิดกรือเซะ และยื่นหนังสือที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ก่อนเดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพบก เพราะเธอมองว่าเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน จนทำให้ถูกฝ่ายความมั่นคงเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหว

“ในเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่โจรใต้ คือมันไม่มีใครแล้วไง ก็มีแค่ก๊ะ (พี่) กับลูกสาว” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นผลที่ตามมา คือการ ‘ปิดล้อม’ ด้วยกองกำลังพร้อมอาวุธ นับพันคน และเหตุการณ์ที่ทำให้ ‘ลูกสาว’ ต้องเผชิญผลกระทบด้านจิตใจจนถึงปัจจุบัน 

“เขาบอกว่าบ้านนี้มีผู้ต้องสงสัยในบ้าน ก๊ะถามว่าใครบอก เขาบอกว่ามีคนบอกมา ก็เลยบอกว่าตรวจเลย เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้ามา คือพร้อมที่จะลั่นไกเลย ก๊ะก็ย้ำว่าค้นได้แต่ห้ามรื้อ ค้นทุกซอกทุกมุมก็ไม่เจออะไร

“อยู่มาประมาณ 2-3 เดือนก็มาอีก ช่วงนั้นก๊ะไม่ได้อยู่บ้านก็มีแต่ลูกสาว ลูกสาวก็เคยเห็นก๊ะทำเวลาเจ้าหน้าที่มา เขาก็ถ่ายรูปไว้ เพราะคิดว่าไม่เป็นไร เจ้าหน้าที่ก็ดึงโทรศัพท์แล้วเอาปืน M16 จี้ ตอนนั้นมีแค่ลูกสาวกับน้องสะใภ้ ผู้หญิงทั้งหมดเลย ช่วงนั้นแหละทำให้ลูกสาวเราอาการหนัก แค่ได้ยินเสียงปิดประตูดัง เขาก็สะดุ้งกลัวแล้ว”

นี่คือสิ่งที่เธอเรียกว่าทั้งแค้นทั้งโกรธที่สุด ต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้ำเติมครอบครัวเธอ การเข้ามาแสดงอำนาจเพื่อความสะใจ มันได้ทำร้ายจิตใจผู้หญิงที่เคยสูญเสียจากอำนาจรัฐมาแล้ว

“พอเวลาเจ้าหน้าที่มาแล้วก็กลับไป เขาคงสะใจของเขาที่ได้มา แต่หลังจากเขากลับไป เราเป็นยังไงบ้าง เขาไม่เคยตามข่าวเลย ไม่เคยดูไม่เคยถาม ทุกวันนี้ลูกสาวก็จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้คนเป็นแม่กับลูกสาว ก็คือความปวดร้าว การที่จะมาบุกรุกหรือปิดล้อมแต่ละบ้าน คุณต้องได้ข้อมูลที่ชัดเจนก่อน คุณต้องมีการแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนาเข้ามา 

“ไม่ใช่อยู่ๆก็บุกมา ซึ่งบางบ้านอาจจะมีคนชรา ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ อย่ามาซ้ำเติมแล้วก็กลับไป แต่บางบ้านเขาเกิดผลกระทบด้านจิตใจ เขาต้องไปหาหมอ แล้วไม่รู้จะกลับมาเหมือนเดิมได้อีกไหม ยกตัวอย่างลูกก๊ะกี่ปีมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 หมดค่ารักษาไปเท่าไหร่แล้ว เรื่องนี้เขาเคยถามบ้างไหม ก็ไม่ มีแต่จะซ้ำเติมกันอีก” 

เธอเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับครอบครัว เป็นผลพวงมาจากการออกไปต่อสู้ในฐานะ ‘แม่โจร’ ผ่านสายตาของรัฐ ซึ่งการปิดล้อมในหลายๆครั้ง มันทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และส่งผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน เหมือนรัฐประทับตราเธอไปแล้วว่า คือส่วนหนึ่งของขบวนการ

“ลำบากหลายอย่าง 1.ความเป็นอยู่ 2.ด้านจิตใจ 3.เพื่อนบ้าน คืออยู่ยากจะไปไหนก็สงสัย ต้องมีเจ้าหน้าที่ติดตามเราตลอด ในชีวิตประจำวันมันขาดอิสระไปเลย ไหนจะเครียดเรื่องลูก เรื่องเรียนหนังสือ เงินก็ไม่มี จะไปทำมาหากินเข้าไปในสวนยางพาราก็กลัว เพราะเจ้าหน้าที่อยู่ นั่นคือผลกระทบที่หนักที่สุดของผู้หญิง 

“ขนาดคนที่ได้รับผลกระทบจากการวิสามัญ พวกเราจะไปเยี่ยมในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ก็ยังมีการคุกคาม ไปถามคุณเป็นใคร รู้จักอะไรกับเขา เหมือนเขาว่าเราเป็นท่อน้ำเลี้ยง ทั้งที่จริงโดยมนุษยธรรม ฐานะมนุษย์ด้วยกัน เป็นอิสลามรู้จักหรือไม่รู้จัก แต่เมื่อเขาเสียชีวิต เราต้องไปเยี่ยมหรือบริจาคช่วย เพราะมีเด็กกำพร้า แต่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจตรงนั้น” รวยนะห์ ระบายความเจ็บปวด

ปัจจุบันนอกจากอาชีพครู อีกบทบาทของรวยนะห์คือการเข้าร่วมกับองค์กรผู้หญิงปาตานี เพื่อทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากประสบการณ์การสูญเสีย เธอนำมาเป็นแรงผลักดัน เพื่อปกป้องเพื่อนมนุษย์จากการคุกคาม 

"เวลาผู้หญิงมีปัญหา เวลาเกิดเหตุการณ์ เราก็จะไปช่วยตรงนั้น เพราะเราเคยผ่านมาแล้ว ทุกคนต้องการกำลังใจมากที่สุด เงินไม่สำคัญ กำลังใจมาก่อน มีอะไรเราก็แนะนำทั้งเรื่องกฎหมายและการวางตัว"


เสาหลักที่หายไป

“ถ้ามีเขาก็ดีลูกจะได้มีพ่อ มีแต่แม่อย่างเดียวมันไม่สมบูรณ์ใช่ไหม ลูกก็ถามว่าทำไมพ่อยังไม่กลับบ้าน บางทีเราก็ลำบากใจจะตอบ ก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวพ่อก็กลับมา ให้ลูกโตขึ้นนิดนึง เดี๋ยวพ่อก็กลับมาหาเอง” ไอนี ซาและ ภรรยาผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา 

4 พ.ค.64 ที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เกิดเหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงกับผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ ‘อีลียัส เวาะกา’ สามีของไอนี โดยมีการวิดีโอคอลถึงเธอ ขณะที่มีการปิดล้อม ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แม้รู้ว่าความตายกำลังคืบคลานเข้ามา

“เราเห็นสีหน้าเขา คนเราเหมือนรู้ว่าตัวเองจะตาย ไม่มีทางฟื้นขึ้นมาแล้ว แต่ว่าหน้ายิ้มอยู่นั่นแหละคือการสะท้อนว่าเขามีใจที่ยึดมั่นจริง เหมือนในใจเขาโกรธแค้นเจ้าหน้าที่ ซึ่งบังคับให้เขาต้องเป็นแบบนี้ 

“สามีเขาบอกว่าขอโทษด้วย ขอโทษทุกสิ่งทุกอย่าง เขาบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่ล้อมแล้ว ก็น้ำตาไหล ไม่รู้จะทำยังไง เราก็ถามว่าถอยได้ไหม เขาบอกว่าไม่ถอยแล้ว เพราะเขายอมตายตั้งแต่ออกจากบ้านแล้ว” ไอนีเล่าวันถูกพรากสามี

Q_02.jpg

เธอเล่าว่าเดิมทีครอบครัวนอกจากปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก ในวันเสาร์-อาทิตย์ สามีและเธอจะไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนตาดีกา หรือ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในหมู่บ้าน ทำให้คนในชุมชนมีความศรัทธาต่อสามีเธอ อีกทั้งการชวนเยาวชนที่สุ่มเสี่ยงกับยาเสพติด ให้มาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน อีลียัสจึงมีลักษณะของความเป็นผู้นำชุมชน

ทว่าในระยะหลังเวลาเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ อ.กรงปินัง เจ้าหน้าที่มักจะเข้ามาหาอีลียัสที่บ้าน และเชิญตัวไปที่ค่ายทหาร ทำให้สามีเธอตัดสินใจเข้าป่าจับปืน เมื่อปี 2563 

“ตอนนั้นทหารมาเชิญตัวไปที่ค่ายวังพญา 41 พอครบ 7 วัน ก็ถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง เขาบอกว่าไม่ไปแล้ว เขาว่าถูกทำร้าย ต้องยืนเป็นชั่วโมง บางทีก็ถูกทุบหลัง ก็ถามสามีว่าจะทำยังไง เขาว่าไปดีกว่า ไม่ได้ทำผิดก็มายัดเยียด คนเราเป็นมนุษย์มันต้องตายทุกคน แต่ถ้าจะตายทั้งที ขอตายอย่างมีศักดิ์ศรีดีกว่า” 

สิ้นคำอำลาของอีลียัส แม้ว่าไอนีจะพยายามโน้มน้าวไม่ให้เข้าป่าจับปืน แต่สามีเธอยืนยันว่าต้องไป เพราะทนแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ 

“ก็ร้องไห้เสียใจไหนจะต้องเลี้ยงลูกอีก 2 คน แต่ก็ยอมให้สามีไป เพราะเขาทำใจไม่ได้ที่ถูกกดดันตอนที่อยู่ในค่ายทหาร เขาบอกอีกว่าถึงอยู่เป็นคนดี เขาก็ไม่มองว่าเราดี เพราะตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่อยู่แล้วว่า ไม่ใช่คนดี”

หลังเสาหลักของครอบครัวเธอหายไป เจ้าหน้าที่เริ่มมาสอดแนมเพื่อกดดัน และขอให้ไอนีติดต่อสามีให้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“เจ้าหน้าที่เขาก็มาถาม อีลียัสอยู่ไหม ไปไหน ชอบมาถามแบบนี้ เราก็รำคาญ มาทำไมทุกวัน บางทีก็มาบอกว่าให้ไปบอกอีลียัส เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เหมือนว่าเขาหลงผิดแล้วให้ไปเข้าร่วม สามีก็ไม่เอาด้วย เขาว่าไปทำไมเราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่อยากเข้าร่วมเครือข่ายแบบนั้น มีแต่ทางเจ้าหน้าที่นั่นแหละที่มองเห็นต่าง ยัดเยียดให้เขาเป็นแบบนี้”

สิ้นเสียงและเปลวควันปืนที่ยิงถล่มในวันปิดล้อม ไอนีกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องดูแลทายาทของอีลียัส โดยไม่ได้รับการดูแลใดๆ จากภาครัฐ เนื่องจากถูกตราประทับเป็น ‘เมียผู้ก่อการร้าย’

“หลังสามีไม่อยู่แล้ว รายได้เราก็ลดลง ก็ต้องทำงานหนักขึ้น คนในหมู่บ้านหรือญาติเขารู้สึกสงสารก็มาช่วยเหลือ บางทีก็เอาเงินมาให้ลูกเราไปเรียน มันก็ได้บรรเทาภาระเราไปบ้าง”

ไอนี ยังเรียกร้องไปถึงรัฐบาลว่าขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิกทหารในหมู่บ้าน ที่รัฐบาลส่งมาที่สามจังหวัด เพราะเห็นว่ายิ่งมีทหารในพื้นที่ เรื่องมันก็ไม่จบ 

“ถอนคำสั่งกฎอัยการศึกออกไป ถอนทหารออกไป คนที่เขาอยู่ต่างประเทศ (มาเลเซีย) เขาก็อยากกลับบ้าน ไม่ใช่อยากอยู่ที่บ้านเกิดคนอื่น บ้านเกิดเขามี แต่เขาต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น เพราะอะไร เพราะมีกฎอัยการศึก เพราะมีทหารเข้ามา แต่ก่อนไม่มีแบบนี้ก็อยู่กันได้ เราต้องการความมั่นคง เราต้องการให้สามจังหวัดอยู่อย่างสันติสุข แต่ถ้าไม่ถอนคำสั่งพวกนี้ ใครมันจะไว้ใจ เหมือนกับล่อเสือเข้าถ้ำใช่ไหม”


ซ้อมทรมาน-สูญหายโดยไม่ทราบชะตากรรม

“ลูกชายโดนซ้อมครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี แล้ว 19 ปี ก็โดนอีก พออายุ 25 ก็โดนอีก แล้วก็หายไปเลย” ยีสะห์ ยีซะห์ิ หญิงสูงวัยผู้ทำอาชีพเย็บผ้า แม่เหยื่อซ้อมทรมานและสูญหาย บอกเล่าเรื่องราวของ ‘อาดิล สาแม’ ลูกชายที่หายไป

ปัจจุบันอาดิลสูญหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม ตั้งแต่ปี 2561 หลังจากเขาถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตั้งแต่อายุ 13 ปี เพื่อต้องการหาคนร้ายคดีระเบิดในตลาดเมืองยะลา เมื่อปี 2552

“ตอนลูกอายุ 13 ปี มีเพื่อนชวนไปดูวัวที่ริมแม่น้ำปัตตานี ประมาณ 2 ทุ่ม ก็จอดรถที่สะพาน แล้วก็เดินไปดูวัวกินข้าวโพดกับเพื่อน พอดีเจอกับทหารอยู่ ก็เลยเชิญตัวไปริมแม่น้ำ แล้วก็สอบถามลูกชาย เขาก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง ทหารก็ตีเลย เพื่อนลูกโดนหนักกว่า 

“พอดีทหารอีกคนเขาบอกหนีน้องหนีไป ลูกก็หนีลงไปในน้ำ อยู่ในน้ำนานมาก ทหารก็บอกเพื่อนเขาว่าให้ไปดูศพข้างล่าง ก็เลยขับรถออกไป ลูกก็เลยขึ้นมาจากน้ำกลับบ้าน ตอนนั้นลูกเพิ่งอยู่ ม.2” หญิงสูงวัยแววตาเศร้าเล่าถึงวันหดหู่

Q_04.jpg

นับตั้งแต่นั้นมาอาดิลมักตกเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่ เวลาเกิดเหตุในพื้นที่เมืองยะลา และเขาถูกซ้อมทรมานอีกครั้งตอนอายุ 19 ปี เพราะมีเหตุการณ์ความไม่สงบในระแวกหมู่บ้าน เขาถูกทุบตีต่อหน้าแม่ ที่กำลังร้องขอชีวิตลูกชายจากเจ้าหน้าที่

“พออายุ 19 ปี ก็โดนอีก โดนสลบบนบ้านเลย เพราะเขาบอกว่าลูกไม่มีซิมในโทรศัพท์ พอดีก๊ะโกรธลูกโทรศัพท์กับแฟน ก๊ะก็บอกว่าบาปนะถ้าไม่ได้แต่งกัน ก๊ะโกรธเลยเอาซิมโทรศัพท์ทิ้ง ประมาณ 2 ชั่วโมงทหารก็มาที่บ้าน ค้นบ้านหมดเลย เจอโทรศัพท์ไม่มีซิม ทหารก็ถามเอาซิมไปทิ้งที่ไหน ก็เลยตีลูกก๊ะ ตีจนสลบเลย พอเข้ามาดูก็ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว เห็นแต่นอนน้ำลายฟูมปาก”

หลังบาดแผลครั้งนี้อาดิลเคยเอ่ยกับแม่ว่า เขากลัวการถูกซ้อมทรมาน และเขากดดันจากเจ้าหน้าที่ ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก เขาบอกกับยีสะห์ว่า “เขาจะไม่อยู่แล้ว” และในวันนั้นก็มาถึง

“ครั้งที่ 3 อายุ 24 ปี มีระเบิดที่ตลาดเช้ายะลา เจ้าหน้าที่เลยใส่ร้ายว่าเขาเป็นคนดูต้นทาง แล้วเขาก็หนีไปเลย ไม่รู้ไปอยู่ไหน ติดต่อก็ไม่ได้”

ทว่าในสายตาของเจ้าหน้าที่ยังคงเชื่อว่าอาดิลอยู่ในพื้นที่ และมักจะเข้ามาปิดล้อมบ้านของยีสะห์ ล่าสุดเมื่อปี 2565 เจ้าหน้าที่ให้พี่ชายของอาดิล สวมชุดเกราะเพื่อนำกองกำลังบุกเข้าตรวจบ้าน โดยเชื่อว่าอาดิลกลับมาที่บ้านเกิด แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยมีใครพบเขาอีกเลย

ยีสะห์บอกอีกว่าเวลาเกิดเหตุระแวกเขตเมืองยะลา หมู่บ้านสาคอแห่งนี้ จะถูกปิดล้อมตรวจค้นเสมอ เพราะฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็นพื้นที่กบดานของผู้ก่อการ ทำให้ผู้ชายในหมู่บ้านต้องหนีไปทำงานที่อื่น

“คนที่นี่ผู้ชายไม่มีใครอยู่บ้านเลย ยิ่งเรียนศาสนาภาษายาวีอยู่ไม่ได้ หลายคนแล้วที่หนีออกไป เพราะเขาใส่ร้าย เขาโดนอะไรข้างนอกเขาใส่ร้ายคนในหมู่บ้านนี้แหละ” ยีสะห์ กล่าวอย่างชาชิน


รัฐต้องทลายอคติ รับฟังคนในพื้นที่

“กลุ่มคนเหล่านี้ถูกละเลยโดยรัฐ เพราะไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย เขาตีตราไปแล้วว่าผู้หญิงคนนี้ สมมติสามีเสียชีวิตจากการปะทะ เขาจะตราไปเลยว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ควรจะได้อะไร ทั้งที่เขาคือมนุษย์คนหนึ่ง” ‘ฆอฟเสาะ วานิ’ องค์กรผู้หญิงปาตานี สะท้อนสิ่งที่คนนอกพื้นที่มองไม่เห็นปัญหา การละเมิดสิทธิและการคุกคามผู้หญิง ยังคงเกิดขึ้นมาโดยตลอด 19 ปี

“ที่สามจังหวัดมีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งจากฝ่ายขบวนการ ทำไมถึงต้องให้ความสนใจกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ เหตุผลหลักเลยคือสิทธิมนุษยธรรม มันไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเดียวนะ แล้วเด็กอีก อย่าลืมว่ารั้วของชาติคือเด็กรุ่นๆนี้”

Q_01.jpg

ผู้ทำงานด้านสิทธิสตรี ยังฉายภาพให้ชัดขึ้นด้วยการยกปัญหามาเล่าว่า “เคยมีเคสที่เจ้าหน้าที่ไปใช้บ้านผู้หญิง ที่สามีไม่ได้อยู่บ้าน ก็คือหุงหาอาหาร จนผู้หญิงคนนั้นไม่กล้าอยู่ พออิ่มแล้วเขาก็ออกไป ผู้หญิงก็กลับมาบ้าน เวลาเจ้าหน้าที่อยู่ ก็ย้ายไปอยู่ตามบ้านแม่ยายบ้าง มีแบบนี้ด้วยเหมือนกัน”

สิ่งที่เธอเสนอทางออกในฐานะประชาชนในพื้นที่ คือภาครัฐต้องเปิดใจรับฟัง อย่ามองว่าพวกเขาคือผู้เห็นต่าง ทลายอคติที่มีต่อมนุษย์ด้วยกัน และหาจุดร่วมเพื่อแก้ไข

“ถ้านึกไม่ออกลองสวมบทบาทว่าเราคือเคสที่เกิดขึ้น สันติภาพจริงๆเวลาจะสร้างให้มันเกิดขึ้น มันต้องมาจากทุกฝ่าย และอย่าลืมว่าคนที่เป็นประชากรหลักส่วนใหญ่ตอนนี้ก็คือผู้หญิง เพราะฉะนั้นควรจะฟังเสียงผู้หญิง ควรจะให้น้ำหนักกับผู้หญิงด้วย โดยที่ไม่มองข้ามว่าผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นผู้หญิงแบบไหน 

“บางทีถ้าลองฟังเขา รัฐอาจจะได้อะไรอีกหลายอย่าง ได้เห็นความต้องการจากเขา บางทีทางแก้มันมาได้จากการแค่รับฟัง อยากให้เปิดใจให้กว้างและให้รับฟังเสียงผู้หญิงในชุมชนและในสามจังหวัดให้มากขึ้นว่า เขาต้องการอะไร จึงๆแล้วผู้หญิงไม่ต้องการอะไรมาก ต้องการแค่ความมั่นคงในชีวิต”


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog