ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' ประชุมติดตามงานบีโอไอ เผยปี 2561 ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนทะลุ 9 แสนล้านบาท เป็นคำขอรับการลงทุนในพื้นที่ 'อีอีซี' ร้อยละ 76 ด้านบีโอไอตั้งเป้าปี 2562 คำขอรับการส่งเสริม 7.5 แสนล้าน แจงกังวลความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,626 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 901,770 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 720,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25

ตัวเลขการลงทุนในปี 2561 แบ่งเป็น

  • การลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ซึ่งประกอบไปด้วย หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล อากาศยาน การแพทย์ และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มูลค่ากว่า 539,460 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 60
  • การลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-curve) ซึ่งประกอบไปด้วย ยานยนต์และชิ้นส่วน ท่องเที่ยว เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และแปรรูปอาหาร มูลค่ากว่า 218,950 หรือ คิดเป็นร้อยละ 24
  • การลงทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ขนส่งทางอากาศ วิจัยและพัฒนา ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มูลค่ากว่า 143,360 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 16

นายสมคิดย้ำว่า จากมูลค่าการลงทุนกว่า 901,770 ล้านบาท นั้น เป็นคำขอลงทุนในพื้นที่โครงการระเบียนเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี กว่า 680,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 76 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

การบ้านของบีโอไอในปี 2562

นายสมคิดย้ำว่า การบ้านหลักของ บีโอไอ มี 3 ข้อด้วยกันคือ (1) การสร้างความเท่าเทียมไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) เรื่องของการออกแบบพัฒนาสตาร์ทอัพของไทยให้เข้มแข็งภายใน 2-3 ปีข้างหน้า (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลายเป็นจุดศูนย์การของอุตสาหกรรมอื่นๆ

ส่วนเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำพร้อมสร้างความสารถในการแข่งขันไปในเวลาเดียวกัน นายสมคิดชี้ว่า หากธุรกิจใดที่มาลงทุนแล้วก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชุนให้ได้รับผลประโยชน์ที่ดีกว่า อาทิ ธุรกิจที่เข้ามาพัฒนาด้านการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เมืองรองต่างๆ การส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าพร้อมกับไม่ทิ้งประชาชนไว้ด้านหลัง เพราะการลงทุนเช่นนี้จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการพัฒนาทักษะของคนในชุมชน

ประเทศไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมาเน้นการส่งเสริมการลงทุนไปที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม โลกกำลังเปลี่ยนไปและระบบอุตสาหกรรมใหม่ อย่าง สตาร์ทอัพ มีความคล่องตัวสูงกว่าเพราะสามารถปรับตัวรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

นายสมคิดชี้ว่า สตาร์ทอัพ เป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จึงอยากให้บีโอไอเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง

ประเด็นด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นประเด็นสุดท้ายที่นายสมคิดหยิบขึ้นมาพูด โดยกล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ จีดีพี ของประเทศ มาจากภาคการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 18-19 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก บ่งบอกถึงศักยภาพในการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของไทย ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า หากรัฐบาลตั้งการท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางและพัฒนาอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนอื่นๆ มาล้อมการท่องเที่ยวจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและก้าวกระโดด อาทิ การสร้างรถไฟรางคู่ลงไปที่ภาคใต้ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) ที่จะสร้างทางรถไฟผ่านชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และระนอง เพื่อเป็นการส่งเสริมทั้งโครงสร้างพื้นฐานไปยังจังหวัดเมืองรองในภาคใต้ และยังเป็นการส่งเสริมภาคการเกษตรและการผลิตไปพร้อมกัน


“ถ้าเราทำได้สำเร็จ อนาคตมันจะอัตโนมัติเลย งานของกระทรวงจะเปลี่ยนไปสู่เรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่งั้นต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไป คนละเรื่องคนละราว ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นควบคู่ไปกับการสร้างความสามารถ” นายสมคิดกล่าว


ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า สำหรับปี 2562 บีโอไอจะเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถ

ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 750,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าที่มีคำขอของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากความกังวลในความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในประเทศอย่างการเลือกตั้งมีผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปัจจัยภายนอก

ส่วนนายสมคิดกล่าวว่า แม้ตัวเลขเป้าหมายปีนี้จะไม่ได้สูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับยอด 900,000 ล้านบาท ในปี 2561 แต่จะเป็นยอดที่เน้นคุณภาพเชิงลึกทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :