ดังนั้นการปรับลดลงประมาณจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ถูกโฟกัส โดยเฉพาะการเปรียบเทียบงบประมาณกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่า ‘งบทหาร’ ยังคงมากกว่า ‘งบสาธารณสุข’ แต่ทางรัฐบาลยืนยันว่างบประมาณกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมากกว่า
โดยงบของ สธ. มีอยู่ 153,940 ล้านบาท แต่ไปรวมกับ 2 กองทุน คือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 149,550 ล้านบาท กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน 1,183 ล้านบาท รวม 295,000 ล้านบาท
ส่วนงบกระทรวงกลาโหม 203,281 ล้านบาท โดยงบกระทรวงกลาโหมลดลง ตั้งแต่ปี2563-64 รวม 35,000 ล้านบาท ส่วนงบปี 2565 ลดจากปี2564 กว่า 11,249 ล้านบาท หรือ 5.24 %
หนึ่งในโฟกัสสำคัญของงบกองทัพอยู่ที่ 3 ส่วน คือ งบพัฒนาขีดความสามารถกองทัพ ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ งบด้านบุคลากร และงบการก่อสร้าง อาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ ที่ถูกอภิปรายในสภา
เริ่มต้นที่งบการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์พบว่ามีการปรับลดลงทุกเหล่าทัพ โดย กองทัพบก ลดลง 28,300 ล้านบาท เหลือ 22,130 ล้านบาท
กองทัพเรือ ลดลง 15,000 ล้านบาท เหลือ 14,511 ล้านบาท
กองทัพอากาศ ลดลง 20,700 ล้านบาท เหลือ 19,545 ล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ 2565 ในแต่เหล่าทัพ ได้ชะลอการตั้งงบโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ออกไป จึงทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ไปอยู่ที่งบประมาณผูกพันเดิม เป็นส่วนใหญ่
โดยโครงการตั้งต้นงบปี 2565 ของ ทบ. คาดว่าจะมีจัดหา ฮ.ทั่วไป UH-60 Black Hawk เพื่อทดแทน ฮ.HU-1 Huey งบประมาณราว 3,500 ล้านบาท จากเดิมจะเป็นการจัดหา ฮ.โจมตี AH-1W Super Cobra
ในส่วน ทร. ได้เลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ลำที่ 2-3 ออกไปก่อน หลังเลื่อนมาแล้วในงบปี 2563-2564 ทำให้ต้องปรับแผนการจัดทำงบผูกพันธ์ใหม่ แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ทร. จะมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่หรือไม่ เช่น
การจัดหาเรือฟริเกต ที่อยู่ในชุด ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช ลำที่ 2 งบประมาณกว่า 16,500 ล้านบาท หรือไม่ แต่ด้วยการเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทาง ทร. อาจจัดสรรงบไปกับโครงการขนาดย่อยที่ใช้งบน้อยกว่าแทน เช่น โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ , รถสะเทินน้ำสะเทินบก VN-16 , ฮ.ลำเลียง เป็นต้น
กองทัพอากาศ ได้ชะลอโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียง C-130 ออกไป เพราะต้องใช้งบประมาณถึงหลักหมื่นล้าน ทำให้ ทอ. ต้องนำเครื่องบินวีไอพีชนิดอื่นๆ มาช่วยบินสนับสนุน เพื่อลดชั่วโมงบิน ยืดเวลาการใช้งาน C-130 ไปพรางก่อน
ในส่วนงบประมาณผูกพันโครงการที่ดำเนินการไปแล้วของเหล่าทัพ ยังคงดำเนินต่อไป ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับต่างประเทศ กองทัพบก เช่น รถถัง VT-4 , ฮ.โจมตี AH-6 Little Bird , ยานเกราะสไตรเกอร์ กองทัพอากาศ ได้แก่ เครื่องบินโจมตี AT-6 TH ทดแทนเครื่อง L-39 , เครื่องฝึกบิน T-50 TH ทดแทนเครื่อง PC-9 และ กองทัพเรือ ได้แก่ เรือดำน้ำ Yuan Class S26T ลำที่ 1 , เรือยกพลขึ้นบก LPD-071E 1 ลำ , ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช (เรือฟริเกต) 1 ลำ เป็นต้น
ปรากฏการณ์นี้ ทางพรรคฝ่ายค้าน ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าเป็นรูปแบบโครงการ ‘กองทัพดาวน์น้อย’ เอาไว้ในปีก่อนๆ แล้วก็เป็นภาระที่ต้องมาผ่อนกันในปีงบประมาณต่อๆไป
จึงทำให้กองทัพมี ‘ภาระงบผูกพัน’ จำนวนมาก ผนวกกับการถูกตัดงบจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำให้กองทัพขยับตัวเองได้ยากยิ่งขึ้น
มากันที่งบอีกส่วนหนึ่งที่ถูกจับตา คือ ‘งบบุคลากร’ ของกองทัพที่พุ่งสูงถึง 74% ของงบทั้งหมด 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 1,740 ล้านบาท หรือ 1.68%
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า งบบุคคลกรในกองทัพ เกินครึ่งหนึ่งของงบประมาณ โดยงบพัฒนากองทัพอยู่ที่ 17% และงบก่อสร้างปรับปรุงอาคาร สถานที่ และอื่นๆ 9 %
ซึ่งในกรณีนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า แผนงานบุคลากรภาครัฐ 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของกำลังพล ในเรื่องของระเบียบประจำปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้นำมารวมในส่วนนี้ด้วย จึงแตกต่างจากกระทรวงอื่น จึงทำให้แผนบุคลากรภาครัฐมีงบประมาณมากขึ้น ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม มีแผนปรับลดจำนวนกำลังพลลง จากปัจจุบันถึงปี2570 จำนวนกว่า 12,000 คนเศษ ก็จะสามารถลบงบส่วนนี้ไปได้
นอกจากนี้มีการมองถึงงบประมาณการก่อสร้าง อาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 9 % ของงบกระทรวงกลาโหม แต่ก็ถูกถามถึงความจำเป็น ในการใช้งบส่วนนี้ที่สามารถชะลอออกไปก่อนได้ เช่น การก่อสร้างอาคารที่พัก การก่อสร้างอาคารที่ทำการ การปรับปรุงอาคารสาธารณูปโภคต่างๆ การปรับปรุงสถานที่ เป็นต้น
ซึ่งในส่วนนี้อยู่ใน ‘งบลงทุน’ แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1,554 ล้านบาท , บก.กองทัพไทย 641 ล้านบาท , กองทัพบก 5,512 ล้านบาท , กองทัพเรือ 1,052 ล้านบาท และ กองทัพอากาศ 3,265 ล้านบาท รวมกว่า 12,024 ล้านบาท
ทั้งนี้ในช่วงที่สภาฯ กำลังอภิปรายถล่มการจัดทำงบฯปี 2565 ก็เกิดจังหวะที่กองทัพต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังมีการส่งมอบยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ ZTD-05A หรือ VN-16 จากประเทศจีน ให้กับ ทร.ไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มีการแชร์รูปภาพในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์การพิจารณางบปี2565 พอดี
ทำให้ฝ่ายค้าน ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นำมาอภิปรายในสภาว่า’รถถังมาไวกว่าวัคซีน’
กองทัพเรือ ชี้แจงว่าได้จัดหายานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN-16 จากจีน ในโครงการซื้อยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ระยะที่ 1 จำนวน 3 คัน วงเงิน 398 ล้านบาท โดยเป็นปีงบประมาณ 2563 ก่อนโควิดระบาดเพื่อทดแทนรถถังหลัก Type 69-II ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
ทั้งหมดนี้เป็นสภาวะ ‘กลืนเลือด’ ของกองทัพ ในสภาวะที่เจอทั้ง ‘ศึกโควิด’ และ ‘ศึกการเมือง’ ที่ทั้ง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ ต้องกรำศึกไปด้วยกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง