นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย ขึ้นกล่าวในเวทีการประชุม Raisina ในหัวข้อ Solving the Energy Trilemma : Access, Affordability, availability ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอีก 4 ท่าน เน้นย้ำความพร้อมของไทยในการเปิดกว้างรับการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ชูบทบาทของรัฐในการสนับสนุนการลงทุน ผ่านนโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น การยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอซซิล การพัฒนามาตรฐานการประหยัดพลังงาน มาตรการด้านภาษี รวมถึงการเงินสีเขียว หรือ Green Finance ล้วนแต่จะเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่เป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero)
ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนและผู้เชี่ยวชาญอีก 4 ท่าน จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย คุณ Amitabh Kant ผู้แทนของนายกรัฐมนตรีอินเดียสำหรับการประชุม G20 (G20 Sherpa) และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกนโยบายที่มีความสำคัญและเปลี่ยนแปลงอินเดีย เช่น นโยบาย Incredible India คุณ Fahad Aldhubaib รองประธานอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์และการวิเคราะห์ตลาด ARAMCO คุณ Nicholas Stern ศาสตราจารย์ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) และคุณ Gwendoline Abunaw กรรมการผู้จัดการ Ecobank แคเมอรูน ได้หารือกันในหลายประเด็น อาทิ บทบาทของภาครัฐและสถานบันการเงินในการทำหน้าที่ประกันความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงให้แก่ภาคเอกชนในการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด การส่งเสริมแนวคิดเรื่องการประหยัดพลังงาน ตลอดจนการหารือถึงการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กในการผลิตไฟฟ้า
ผู้แทนการค้าไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนได้ใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำความพร้อมและศักยภาพของไทยในการเปิดกว้างรับการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายที่สนับสนุนการลงทุนสีเขียว รวมทั้งความพร้อมของพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ไทยยังมีกลไก Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการนำพลังงานไฟฟ้าสะอาดไปใช้กับภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิต แหล่งผลิตได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ผ่านการรับรอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการมาลงทุน
นลินี กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาครัฐเองจะมีบทบาทสำคัญในการมุ่งสู่เป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) ผ่านนโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น การยกเลิกการอุดหนุนเชื่อเพลิงฟอซซิล การพัฒนามาตรฐานการประหยัดพลังงาน มาตรการด้านภาษี และที่สำคัญคือการสนับสนุนการเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งจะสามารถเพิ่มกระแสเงินให้ไหลไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและ โดยเฉพาะการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond)