อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรรคเพื่อไทยกล่าวถึงรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2562 ว่า ความยากจนของคนไทยในปี 2562 ลดลงกว่า 2 ล้านคน จากเดิมในปี 2561 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน เหลือ 4.3 ล้านคนในปี 2562 จากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้นเป็น "ภาพลวงตา" เพราะมาตรการที่รัฐดำเนินการ คือการแจกเงินด้วยบัตรสวัสดิการทุกเดือน ไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงาน หรือการสร้างรายได้ของครัวเรือนอย่างยั่งยืน และหากคนจนลดลงจริง เหตุใดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จึงระบุว่าจีดีพีประเทศไทยในปีนี้จะติดลบ -6.5% ต่ำที่สุดและต่ำกว่าประเทศลาว เมียนมา เขมร และประเทศน้องใหม่อย่าง อีสต์ ติมอร์
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ยังเปิดเผยด้วยว่า ระยะหลังการจ้างงานแบบรายเดือนไม่เพิ่มขึ้น แต่มีการจ้างงานแบบลูกจ้างรายวันเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ้างงานรายเดือนที่มาพร้อมกับภาระด้านสวัสดิการ ขณะที่รัฐบาบกลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้
"ในมุมมองของลูกจ้าง คือ มีงานก็จริง แต่การเป็นลูกจ้างรายวัน วันรุ่งขึ้น ถ้าธุรกิจเป็นอะไรไป เขาก็ไม่มีงานแล้ว ไม่มีความมั่นคงในงานและอาชีพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ประชาชนยังไม่ได้หลุดพ้นความยากจนจากมาตรการของรัฐดังที่กล่าวอ้าง" อรุณีกล่าว
นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่ยากจนในปี 2562 ที่รัฐบาลกล่าวอ้าง สวนทางกับข้อมูลข้อธนาคารโลกประจำประเทศไทยและสภาพัฒน์ ฯ โดยระหว่างปี 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% หรือเพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน สอดคล้องกับตัวเลขจีดีพีไทยที่เติบโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เมื่อถูกซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิฐไทยซึ่งมีรายได้จากการส่งและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศฟื้นตัวยาก
อรุณี กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ จำนวนของประชาชนท่ีมีรายได้ลดลงเกือบแตะระดับเส้นความยากจนเพิ่มมากขึ้น ถึง 5.4 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า คนไทยกำลังจนลงอีกกว่า 5 ล้านคน
ปัจจัยสำคัญมาจากหลายด้าน ทั้งการระบาดของโควิด19 แต่การบริหารประเทศของรัฐที่ล้มเหลวมาก่อนเกิดโรคระบาดคือสาเหตุหลักที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนทำให้นักลงทุนในประเทศขาดความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ส่งผลให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมตกงานเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ยังไม่รวมบัณฑิตจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 5 แสนคนที่มีความเสี่ยงที่จะตกงานถาวร และคนตกงาน 8.3 ล้านคนตามการประเมินของธนาคารโลกซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับเช่นกัน