โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนตอบคำถามของผู้สื่อข่าวจาก The Economist ที่ว่า “สำหรับคุณ ‘ชัยชนะ’ คือการรักษาชีวิตเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ในทางการเมืองมันอาจจะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ คุณจะชนะได้อย่างไร รักษาหลายชีวิตพร้อมกับรักษาประเทศไปด้วยในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงหรือ”
ประธานาธิบดีของยูเครนซึ่งยังคงปักหลักอยู่ในกรุงเคียฟตอบคำถามอย่างชัดเจนว่า “เพื่อปกป้องคนทุกคน ปกป้องผลประโยชน์ทั้งหมดในขณะที่ปกป้องผู้คนและไม่ทอดทิ้งดินแดนอาจเป็นภาระหน้าที่ที่เป็นไปไม่ได้ คุณพูดถูก นี่เป็นทางเลือกที่ยาก แต่บางครั้งมันก็มีการตัดสินใจที่เรียกว่า ‘หลักการ’ ยกตัวอย่างเช่น เมืองต่างๆ ซึ่งถ้าเราตัดสินใจที่จะละทิ้งพวกเขาโดยสมัครใจ ปูตินก็จะยึดครอง และจะเดินหน้ายึดไปเรื่อยๆ มากขึ้นและมากขึ้น เพราะความอยากกระหายเยี่ยงผู้หิวโหย สิ่งที่สำคัญที่นี่ไม่ใช่ว่าตัวเลือกนี้เป็นตัวเลือกที่ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจร่วมกับประชาชน”
สงครามยูเครนเดินหน้าเข้าสู่วันที่ 32 “ผู้รุกรานไม่แม้แต่จะเศร้าโศกกับความสูญเสียของตนเอง” เซเลนสกีกล่าว พร้อมระบุว่า เขาไม่เข้าใจเหตุผลที่รัสเซียยังคงเดินหน้ารุกรานยูเครน ถึงแม้ตนเองสูญเสียทหารไปแล้วกว่า 15,000 นายในการเข้ารุกรานยูเครนครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ศพทหารรัสเซียจำนวนมากไม่ได้ถูกฝังตามพิธี แต่กลับถูกปล่อยทิ้งให้เน่าไม่ต่างอะไรไปจากซากปลาตาย
เซเลนสกีกล่าวกับ The Economist ย้ำสิ่งที่ตนเองยังคงเชื่อโดยตลอดว่า “เราเชื่อในชัยชนะ” พร้อมกล่าวว่า “มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเชื่อในสิ่งอื่น เราจะชนะอย่างแน่นอนเนื่องจากนี่เป็นบ้านของเรา แผ่นดินของเรา เอกราชของเรา มันเป็นเพียงแค่คำถามของเงื่อนเวลา” ประธานาธิบดียูเครนย้ำถึงจิตวิญญาณการต่อสู้ของชาวยูเครน อย่างไรก็ดี เซเลนสกียังคงเรียกร้องขอความช่วยเหลือในการส่งอาวุธทั้งเครื่องบินรบ รถถัง และอาวุธต่อต้านอื่นๆ จากชาติตะวันตกเพื่อใช้ในการรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย
เซเลนสกีแบ่งสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (์NATO) ออกเป็นห้ากลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกที่ “ไม่สนใจว่าจะมีสงครามยืดเยื้อเพราะมันจะช่วยทำให้รัสเซียอ่อนแอลง ถึงแม้ว่ามันจะหมายถึงการล่มสลายของยูเครน และมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายของชีวิตชาวยูเครน” อีกกลุ่มต้องการจุดจบที่รวดเร็วจากการต่อสู้เพราะ “ตลาดของรัสเซียนั้นใหญ่ (และ) เศรษฐกิจของพวกเขากำลังย่ำแย่” โดยกลุ่มนี้ต้องการเห็นรัสเซียยังคงรักษาตลาดของตัวเองในบางส่วนเอาไว้
ประธานาธิบดียูเครนกล่าวถึงกลุ่มที่สามของ NATO ว่ามีความหลากหลาย “ยอมรับว่ามีลัทธินาซีในรัสเซีย” และต้องการให้ยูเครนได้รับชัยชนะ กลุ่มดังกล่าวมีประเทศเสรีนิยมเล็กๆ สังกัดอยู่ด้วยกัน ซึ่ง “ต้องการยุติสงครามโดยเร็ว ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม เพราะพวกเขาคิดว่าประชาชนต้องมาก่อน” และกลุ่มประเทศสุดท้ายที่เป็นประเทศอันน่าอับอายที่ต้องการสันติภาพ ในขณะที่ตนเองพยายามในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็น "สำนักงานของสหพันธรัฐรัสเซียในยุโรป"
เซเลนสกีแสดงการยกย่องสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือยูเครนเป็นอันดับต้นๆ ในขณะที่ความซับซ้อนของระบบการเมืองสหรัฐฯ ทำให้ความช่วยเหลือมาถึงยูเครนได้ช้า อย่างไรก็ดี เซเลนสกีสะท้อนภาพไปถึงเยอรมนีที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจด้านพลังงานของเยอรมนีต่อรัสเซีย ในขณะที่เซเลนสกีระบุไปยังประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ไม่ยอมส่งรถถังมาช่วยยูเครนว่า “พวกเขากลัวรัสเซีย แค่นั้นเลย”
เซเลนสกียังได้สะท้อนไปถึงนโยบายการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซียว่า มันเป็นเพียงแค่การลงโทษในสิ่งที่รัสเซียได้ลงมือทำไปแล้ว มากกว่าการห้ามปรามไม่ให้รัสเซียลงมือทำอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก เซเลนสกีระบุไปถึงการขู่ของชาติตะวันตกต่อรัสเซียว่าการใช้อาวุธเคมีจะส่งผลให้รัสเซียโดนมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม เซเลนสกีกล่าวว่ายูเครนไม่ต่างอะไรไปจาก “หนูทดลอง”
ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเคน สหรัฐฯ เสนอทางหนีให้กับประธานาธิบดียูเครน อย่างไรก็ดี เซเลนสกีเลือกที่จะยังคงตั้งหลักอยู่ในกรุงเคียฟ สงครามที่คาดว่ารัสเซียจะยึดเมืองหลวงของยูเครนได้ภายในเวลาสองสัปดาห์นั้น กลับยืดเยื้อมาเกินหนึ่งเดือนเต็ม หลังจากที่รัสเซียไม่สามารถเดินตามแผนของตนเองได้ “มันไม่ได้เกี่ยวกับการมีความกล้าหาญ” เซเลนสกีระบุ “ผมจะต้องทำในสิ่งที่ผมทำ” เซเลนสกียอมรับว่าตนไม่ได้เตรียมตัวในการเป็นวีรบุรุษสงคราม เพียงแต่ตนในฐานะประธานาธิบดีของยูเครน “จะต้องซื่อสัตย์ เพื่อที่ประชาชนจะเชื่อคุณ”
ที่มา: