ไม่พบผลการค้นหา
กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ต้องการอุ้มเอสเอ็มอี-ภาคครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ เสริมสภาพคล่อง

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 5 ก.พ. 2563 มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือว่าปรับลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หันมาดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นมาตั้งแต่ปี 2543

ปัจจัยสำคัญสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้ มาจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย และความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 

นอกจากนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่กระทบห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาค รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่ากรอบล่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งไว้ ส่งผลให้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวต่ำกว่าการประมาณการเดิมมาก

นายทิตนันทิ์ ย้ำว่า สถานการณ์ตอนนี้ของประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในปัญหาทุกประเด็น ทำให้ กนง. จำเป็นต้องจับตาใกล้ชิดกับสถานการณ์ต่างๆ โดยชี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เน้นเพื่อการเสริมสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงภาคครัวเรือนที่มีกำลังจะมีปัญหาหรือที่กำลังมีปัญหาให้สามารถอยู่รอดได้ 

ทั้งนี้ กนง. ย้ำว่า จะต้องมีการพูดคุยกับหลายภาคส่วนเพื่อผลักดันให้การช่วงเหลือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และการเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจมีผลทันที และจะยังติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด รวมถึงพฤติกรรมการแสวงหาผลกำไรในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำด้วยเช่นเดียวกัน

ด้าน นายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งนี้ เป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจอาจจะกำลังมีปัญหาจริง อย่างไรก็ตาม ก็ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวอาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากนัก เนื่องจากปัจจุบันฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็มีหลายมาตรการออกมาช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว 

อีกทั้ง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. เพื่อหวังให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนในการกู้น้อยลง ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากต่อธนาคารพาณิชย์เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ นายจิตติพล เสริมว่า มาตรการดังกล่าวก็จะมีผลดีในการสนับสนุนเงินทุนไหลออกจากประเทศเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการที่ กนง. เลือกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนธนาคารกลางของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิม