สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า เลือกให้ 'กาตาร์' เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือเวิลด์คัพ 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน จนถึง 18 ธันวาคม 2565 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลกาตาร์ก็ประกาศทุ่มงบประมาณสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลในประเทศเพิ่มเติมอีก 8 แห่งทั่วประเทศ รวมกับสนามกีฬาเดิม 4 แห่งในกรุงโดฮาซึ่งเป็นเมืองหลวง
สาเหตุที่ต้องสร้างสนามกีฬาเพิ่ม ก็เพราะกาตาร์ต้องการสนามกีฬาแห่งชาติที่มีความจุคนดูสูงถึง 86,000 ที่นั่ง รองรับความต้องการของแฟนบอลจากทั่วโลกที่คาดว่าจะเดินทางมาร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติต่างๆ และโครงการก่อสร้างเหล่านี้ทำให้กาตาร์ต้องการแรงงานต่างชาติมากกว่า 2 ล้านคนเพื่อดำเนินการให้ทุกอย่างเสร็จทันตามกำหนดจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022
แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยแพร่รายงานด้านสิทธิแรงงานในกาตาร์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า แรงงานชาติต่างชาติจำนวนมากที่ถูกว่าจ้างไปก่อสร้างสนามกีฬา ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บางครั้งเข้าข่ายใช้แรงงานทาส ถือว่าละเมิดกฎด้านจริยธรรมของฟีฟ่า
หลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่ามาตรฐานความปลอดภัยและการดูแลสวัสดิภาพแรงงานต่างด้าวในกาตาร์มีปัญหาจริงๆ ก็คือ คนงานอย่างน้อย 21 คน เสียชิวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในช่วงปีที่ผ่านมา และรัฐบาลกาตาร์เองก็ออกมายอมรับว่าข้อมูลเรื่องคนงานเสียชีวิตขณะก่อสร้างสนามกีฬาหรือโรงแรมรองรับแฟนบอลนั้น "เป็นเรื่องจริง" แต่ก็ชี้แจงว่า สาเหตุการเสียชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น คนงานไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศร้อนแบบทะเลทรายของกาตาร์ได้ จึงมีอาการขาดน้ำ ฮีตสโตรก รวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ แต่ไม่ได้เกิดจากการใช้แรงงานเยี่ยงทาสจนตาย
ข้อมูลดังกล่าวถูกนักสิทธิมนุษยชนออกมาตอบโต้ โดยอ้างถึงเงื่อนไขการทำงานที่เรียกว่า 'เคฟาละ' (Kefala) ซึ่งปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในประเทศอาหรับอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่กาตาร์ประเทศเดียว โดยเงื่อนไขที่ว่า รวมถึงการที่นายจ้างยึดหนังสือเดินทางของแรงงานต่างชาติเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนใจเดินทางกลับประเทศในระหว่างที่โครงการยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องทนทำงานต่อไป แม้ว่านายจ้างที่รับเหมาในบางโครงการจะไม่ทำตามเงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานก็ตาม
เนื้อหาในรายงานของแอมเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ในกาตาร์จะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน นอกเหนือจากถูกยึดหนังสือเดินทางแล้วยังเจอกับปัญหาจ่ายค่าแรงไม่ตรงเวลา สภาพที่พักอาศัยแออัด ไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพียงพอต่อความต้องการและจำนวนคน
ในรายงานมีการยกตัวอย่างสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดของกาตาร์ เป็นปัญหาสำคัญของชาวต่างชาติที่มาจากหลายประเทศที่สภาพภูมิอากาศไม่เหมือนกัน แต่ในที่พักของคนงานกลับไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือน้ำดื่มที่เพียงพอกับจำนวนคน เมื่อต้องรวมกันอยู่ในสภาพแออัดและร้อนอบอ้าว คนงานจำนวนมากที่เคยแข็งแรงก็ล้มป่วยได้ แต่สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลก็ไม่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับแรงงานต่างชาติเหล่านี้
เมื่อถูกนานาประเทศกดดัน ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการฟีฟ่าเอง ทำให้ล่าสุด รัฐบาลกาตาร์ออกมาแถลงมาตรการรับรองความปลอดภัยในการทำงานของเหล่าแรงงานต่างชาติในโครงการก่อสร้างสนามกีฬาและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกีฬาฟุตบอลโลก โดยระบุว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดในตอนนี้คือการออกกฎห้ามนายจ้างใช้เงื่อนไขเคฟาลากับแรงงานต่างชาติ ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขสัญญาจ้างใหม่ให้แรงงานต่างชาติใช้สิทธิขอเปลี่ยนงานหรือกลับประเทศก่อนกำหนดได้โดยไม่มีการขึ้นบัญชีดำ
ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากฟีฟ่า แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนก็ยังมองว่า รัฐบาลกาตาร์สามารถทำได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการความเป็นอยู่ที่เหมาะสมแก่แรงงานต่างชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมารายย่อยอย่างเข้มงวดกวดขันมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ที่มา: The Guardian/ World of Politics