บลูมเบิร์กเผยแพร่บทความภาษาอังกฤษ Why Thailand's Women Are So Successful in Business (But Not Politics) สะท้อนว่า ผู้หญิงไทยรับบทบาทผู้นำในแวดวงต่างๆ มากถึงถึงร้อยละ 37 ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 24 ของผู้หญิงที่มีบทบาทนำในแวดวงต่างๆ ทั่วโลก อ้างอิงจากผลสำรวจของสหประชาชาติที่รวบรวมข้อมูลจาก 193 ประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า ผู้หญิงไทยที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรหรือบริษัทต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 40 ของตำแหน่งรวมในประเทศ ส่วนผู้หญิงที่มีบทบาทในระดับผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบายในแวดวงการเงินการคลังก็มีจำนวนถึงร้อยละ 34 ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าและจะนำพาให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศในเรื่องการทำงานและวงการธุรกิจการเงินของไทยได้ในไม่ช้า
ส่วนเหตุผลหลักๆ 3 ประการที่ทำให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสและมีความก้าวหน้าไปจนถึงระดับผู้บริหารในแวดวงธุรกิจการเงิน ได้แก่
(1) ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาระดับสูง โดยรายงานด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (WEF) ซึ่งเผยแพร่ล่าสุดเมื่อปี 2017 ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ผู้หญิงได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็นสัดส่วนผู้หญิง 1.41 คนต่อผู้ชาย 1 คน และการที่ผู้หญิงได้รับการศึกษาขั้นสูงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้หญิงมีโอกาสพิสูจน์ความสามารถและได้รับประสบการณ์ด้านการทำงานในแวดวงต่างๆ รวมถึงด้านการเงินการคลัง จนในที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงไม่แพ้ผู้ชาย
(2) ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเป็นทายาทธุรกิจของตระกูลเก่าแก่ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่แวดวงธุรกิจต่างๆ มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้นำหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านต่างๆ ของการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการ โดยบลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์ 'สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม' ทายาทรุ่นที่ 3 ของกิจการ 'เรือด่วนเจ้าพระยา' ซึ่งเป็นธุรกิจผู้ให้บริการเรือข้ามฝากและการล่องเรือต่างๆ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเกือบร้อยปี และรองรับผู้ใช้บริการปีละกว่า 1.7 ล้านคน โดย 'สุภาพรรณ' ระบุว่า ลูกสาวของเธอก็ถูกวางตัวเป็นผู้บริหารกิจการรุ่นต่อไปเช่นกัน
ส่วนกิจการของบริษัท สยามพิวรรธน์ เป็นบริษัทธุรกิจค้าปลีกและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ปัจจุบันมี 'ชฏาทิพ จูตระกูล' เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยตำแหน่งดังกล่าวเคยเป็นของพล.อ.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทและบิดาของ 'ชฏาทิพ' แต่ผู้บริหารรายนี้บอกกับบลูมเบิร์กว่า การเริ่มต้นในแวดวงธุรกิจของเธอไม่ได้นับหนึ่งที่ตำแหน่งบริหารเลย แต่เธอต้องเรียนรู้งานในทุกๆ ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นแผนกต้อนรับหรือแผนกรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นการเตรียมตัวให้เธอมีความรู้ความเข้าใจในบุคลากรและกลไกการทำงานต่างๆ อย่างรอบด้าน
(3) ความช่วยเหลือจากครอบครัว ช่วยสร้างสมดุลระหว่างบ้านและที่ทำงาน โดยบทความของบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงการสัมภาษณ์ 'แอนนา แคริน แจตฟอร์' ผู้อำนวยการองค์การ UN Women ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ไทยเป็นสังคมที่มีครอบครัวขยายหรือครอบครัวขนาดใหญ่ ทั้งพ่อแม่ปู่ย่าหรือตายายยังอยู่รวมกันในครอบครัวเดียว และคนในสังคมไม่ได้มีทัศนคติตายตัวว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้านเท่านั้น แต่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านยังมีญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ย่าตายาย คอยดูแลลูกหลานแทน ช่วยให้การสร้างความสมดุลระหว่างบ้านและที่ทำงานของผู้หญิงไทยดำเนินไปด้วยดี เมื่อเทียบกับประเทศแถบตะวันตกอื่นๆ ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ว่ามานี้ไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงไทยมีบทบาทในแวดวงการเมืองมากนัก โดยอ้างอิงจากสถิติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน แม้จะเคยมีรัฐมนตรีผู้หญิง 3 คน แต่ขณะนี้มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทหารที่เป็นผู้หญิงเพียง 1 คน ขณะที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ 'แคนดิเดตนายกฯ' ของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนที่ไทยจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ คิดเป็นสัดส่วนผู้หญิง 4 คน จากผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 68 คน
บลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของ 'ดร.จุรี วิจิตรวาทการ' จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ 'กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย ดร.จุรี ระบุว่า ที่ทางของผู้หญิงในเวทีการเมืองนั้นค่อนข้างเงียบเหงา และผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ยากกว่าผู้ชาย เพราะจำนวนผู้หญิงในเวทีการเมืองไม่ได้มีมากนัก
ขณะที่อดีต รมว. กอบกาญจน์ ระบุว่า ผู้หญิงมีบทบาทและมีความสำคัญในการขับเคลื่อนหรือดำเนินกิจการต่างๆ เพียงแต่บางครั้งก็ยินยอมให้ผู้ชายเป็นฝ่ายพูดหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แทน