ไม่พบผลการค้นหา
แพทยสภา-ศิริราช เรียกร้องกลุ่มเสี่ยงไวรัสโควิด -19 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ฟากโรงพยาบาลระยองเผยผลตรวจ 16 ชาวระยองกรุ๊ปทัวร์ญี่ปุ่น ยังไม่พบเชื้อ ขณะที่ สปสช. ย้ำตรวจโควิด -19 ใช้สิทธิบัตรทองได้

วันที่ 27 ก.พ. 2563 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว "เรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัสโควิด -19 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง" 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด -19 ในหลายประเทศ และการเดินทางไปต่างประเทศที่สะดวกรวดเร็วทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง จากการนำเชื้อจากแหล่งระบาดมาแพร่ต่อในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยและสูญเสียอย่างมากตามมา แม้จะคาดกันว่าในที่สุด ไวรัสโควิด -19 จะระบาดไปทั่วโลก แต่ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย ต้องการให้การระบาดชะลอให้ช้าที่สุด มีผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขที่มีสามารถดูแลรองรับผู้ป่วยได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการ ทำให้เกิดความพร้อมทั้งครื่องมือการตรวจทางห้องปฏิบัติการและยารักษา จึงขอความร่วมมือให้งดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดในช่วงนี้ และรีบวินิจฉัย แยกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

ไวรัสโคโรนา-เครื่องบิน-ฆ่าเชื้อ-ทำความสะอาด-ไทยแอร์เอเชีย

สาเหตุหนึ่งของการระบาดคือการที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ซึ่งได้แก่ ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดสูง ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมทั้งอิตาลี และอิหร่าน อาจมีจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยไม่แยกตัว หลังจากเดินทางกลับทำให้มีโอกาสไปแพร่เชื้อได้ต่อเนื่อง และไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเมื่อเจ็บป่วย ทำให้แพทย์วินิฉัยโรคได้ล่าช้า ดังเช่นกรณีผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล แต่ไม่เปิดเผยประวัติการเดินทางทำให้บุคคลใกล้ชิด ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทันเตรียมตัวป้องกันการติดต่ออย่างถูกต้อง อาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีประวัติเสี่ยงตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และต่อประเทศชาติ หยุดการแพร่กระจายโรค โดยการแยกตัวจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค หากเจ็บป่วยต้องให้ประวัติที่แท้จริงเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด -19 ในประเทศไทย 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า การรวมตัวกันจำนวนมากที่ใดที่หนึ่งอยากให้หลีกเลี่ยงในช่วงนี้เพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครหากกลับมาจากประเทศที่มีความเสี่ยง ขอให้รับผิดชอบต่อสังคม โดยการหยุดงาน กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน คนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงขออย่านำตัวเองไปในประเทศที่เสี่ยง และหากไปในประเทศเสี่ยงก็ขอให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมรับผิดชอบสังคมและประเทศ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อ


ประชาชน - หน้ากากอนามัย


ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนและครอบครัวที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่มีการระบาดแบ่งกลุ่มเสี่ยงเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มที่ 1 ผู้ที่เดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน มาเก๊า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี แจ้งการเดินทางกลับแก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทางโทรศัพท์ทันทีเพื่อลางาน หยุดทำงานหรืออยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันนับจากเดินทางถึงประเทศไทย แยกพื้นที่อาศัย เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ กับผู้อื่น ถ้าเป็นไปได้เลือกอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทดี หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1เมตร (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ) ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเมื่อต้องใกล้ชิด ให้ใช้หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจำอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ฯลฯ และ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ชุมชน

กลุ่มที่ 2 ผู้ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับกลุ่มที่ 1 ในช่วง 14 วันแรก ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้นั้นในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจำอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้นั้น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ใส่หน้ากากอนามัย ถ้าจำเป็นต้องใกล้ชิดผู้นั้น

กลุ่มที่ 3 คือทั้งสองกลุ่ม ต้องเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของตนเองและผู้ใกล้ชิด ที่อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ ได้แก่ อาการไข้ ถ้ารู้สึกว่ามีไข้ ให้ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ว่าอุณหภูมิที่วัดทางปากมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือทางรักแร้มากกว่า 37.0 องศาเซลเซียสหรือไม่ อาการผิดปกติของทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือหายใจเร็ว หากผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศต่างๆ ดังกล่าวหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ ข้างต้นทั้ง 2 ข้อ ให้ติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาหรือ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง หรือ สอบถาม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ประชาชน - หน้ากากอนามัย


ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาจเป็นตัวแพร่เชื้อได้ดี เนื่องจากการโอบกอด หอมเด็ก หากสัมผัสกลุ่มเสี่ยง หรือเดินทางไปต่างประเทศ ควรกักตัวไว้ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ไม่ควรพาเด็กไปพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเด็กอาจจะมีการทิ้งน้ำลาย น้ำมูก ไว้ตามที่สาธารณะ หากมีคนมาสัมผัสอาจติดได้ ให้รีบแจ้งโรงเรียนและหยุดไปเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กและไม่ให้เล่นกับเด็กอื่นๆ เป็นเวลา 14 วันหลังจากเดินทางกลับ เด็กๆอาจไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ก็ไม่เป็นไรแต่ควรนั้นให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ และหากมีอาการเจ็บปวยไห้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และในกรณีที่มีเด็กอยู่ร่วมบ้านกับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงควรแยกเด็กให้ห่าง อยากทำความเข้าใจว่า ไม่วรไปรังเกียจ หรือ บูลลี่กลุ่มเสี่ยง แต่ต้องไม่ปิดบังประวัติ

ตรวจไม่พบเชื้อในกลุ่มชาวระยองที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น

สำนักข่าวไทย รายงานกรณีมีข่าวแชร์โซเชียลและหลายคนแสดงความเห็นด้วยความวิตกกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากชาว ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง มีประวัติการเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และกลับจากเมืองซัปโปโร มาถึงสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าทัวร์กรุ๊ปนี้ไปเที่ยวกันหลายคน และเป็นชาวระยอง 16 คน ทางโรงพยาบาลระยองไม่ได้นิ่งนอนใจได้ดำเนินการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รีบนำตัวทั้ง 16 คน มาตรวจหาเชื้อไวรัสแล้ว หากมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยก็จะต้องกักตัวเพื่อรอดูอาการ แต่ผลตรวจทั้ง 16 คน ปรากฏว่าเป็นลบ คือไม่พบเชื้อ ส่วนคนอื่นๆ นอกจาก 16 คนนี้ ขอให้ไปตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อความชัดเจนและเป็นการป้องกันโรค รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคคือ สวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง 

สปสช. ย้ำใช้สิทธิบัตรทองรักษา 'โควิด -19' ได้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ประชาชนทั่วไป อาจวิตกกังวลว่าตนเองมีอาการไข้หวัดตามฤดูกาล หรืออาจเป็นอาการของโควิด-19 หรือไม่ จึงขอย้ำตามคำกล่าวของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า หากประชาชนไม่มีอาการใดๆ ก็ไม่ต้องไปตรวจยืนยัน แต่หากเข้าข่ายเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูกไหล หายใจเหนื่อยหอบ สามารถเข้าตรวจที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ต่างจังหวัด และผู้ป่วยอยู่กรุงเทพฯ ก็สามารถเข้าใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน  

รองเลขาธิการ สปสช. บอกด้วยว่า เนื่องจากน้ำยาที่ใช้ในการตรวจโควิด -19 มีจำนวนจำกัด ต้องเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็นกับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเท่านั้น เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


สธ แถลง 27-2-2563.jpg
  • สธ.แถลงข่าวไวรัสโคโรนา 2019 ประจำวันที่ 27 ก.พ. 2563

แพทย์อนุญาตผู้ป่วยโควิด -19 กลับบ้านได้เพิ่ม 3 ราย

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ข่าวดีวันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่มอีก 3 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร 2 ราย เป็นชายจีน อายุ 63 ปีและชายไทย อายุ 49 ปี จากโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหญิงจีน อายุ 33 ปี มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 27 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 40 ราย

สำหรับความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน 3 รายวานนี้ (26 ก.พ.) ได้แก่ คนในครอบครัว เพื่อนร่วมกรุ๊ปทัวร์ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนร่วมชั้นเรียน ขณะนี้ติดตามได้ครบทุกคนแล้ว โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วยประกอบด้วยผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนาน 5 นาทีหรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิดไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วยและอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตรนาน 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง