นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เผยเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา และประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ภายใต้แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท อาทิ โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล โครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาถูก และโครงการการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืนของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำและชุมชนริมน้ำ ซึ่งมีครัวเรือนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้อาศัยอยู่ในที่ดินอย่างไม่ถูกต้อง ไม่มีกรรมสิทธิ์ และเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ อาทิ ระบบสาธารณูปโภค รวมไปถึงการสร้างบ้านในพื้นที่เสี่ยง อาทิ พื้นที่ดินสไลด์ พื้นที่แก้มลิง และพื้นที่รับน้ำ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวง พม. โดย พอช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ให้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง จำนวน 20,920 หลังคาเรือน
สำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืนของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำและชุมชนริมน้ำ ในปีงบประมาณ 2568 ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการใน 4 พื้นที่ ได้แก่
1) คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นพื้นที่ระบายน้ำสำคัญของ กทม.
2) พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ฝั่งตะวันตกและตะวันออก
3) พื้นที่อุทกภัยในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ
4) พื้นที่อุทกภัยเชียงรายลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำแม่สาย อำเภอเวียงป่าเป้า
การขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้มุ่งเน้นกระบวนการจัดระเบียบชุมชน โดยคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 เป็นแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย
1.1) การสร้างความมั่นคงในที่ดิน มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย
1.2) การเชื่อมโยงเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เพื่อขยายผลการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน
1.3) การสร้างและปรับปรุงบ้านให้มีความมั่นคงแข็งแรงตามมาตรฐาน มีรูปแบบบ้านให้เหมาะสม สามารถอยู่กับน้ำท่วมซ้ำซาก หรือน้ำท่วมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้
1.4) การสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูโภคและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมคูคลอง และ 1.5) พัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ การสร้างทุนชุมชน
แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่อุทกภัยในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่อุทกภัยเชียงราย ประกอบด้วย
2.1) การปรับปรุงบ้าน รูปแบบบ้านให้สามารถอยู่กับน้ำท่วมซ้ำซากได้
2.2) กรณีที่ดินที่อาศัยอยู่เดิมของกลุ่มชุมชนมีความเสี่ยง และยากต่อการรับมือในอนาคต จำเป็นต้องย้ายหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสม
2.3) การจัดระบบ กลุ่ม ชุมชนให้มีทีมทำงานและเชื่อมโยงเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อม สามารถบริหารจัดการชุมชน และช่วยเหลือกันเมื่อประสบปัญหาอุทกภัยได้ในอนาคต
สำหรับการออกแบบบ้านที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมสามารถอยู่กับสภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก และน้ำท่วมสูงขึ้นทุกปี ทาง พอช. มีความร่วมมือกับนักวิชาการในพื้นที่ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบบ้าน รวมถึงหารือร่วมกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อออกแบบร่วมกันว่า บ้านในลักษณะไหนที่มีความเหมาะสม ไม่สร้างความลำบากในการอยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชนมากเกินไป โดยอาศัยการศึกษารวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำและระดับน้ำที่ท่วมในแต่ละปี ซึ่งการออกแบบบ้านอาจจะเป็นลักษะการดีดบ้านให้สูงขึ้นเพื่อให้พ้นน้ำ และการทำบ้านแพลอยน้ำ เมื่อน้ำมา บ้านจะสามารถลอยยกขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ จะดำเนินการนำร่องใน 5 หมู่บ้าน ในตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา