ไม่พบผลการค้นหา
เปิดทัศนะจาก 2 อดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตีแผ่ปมปัญหาการจัดการป่าแก่งกระจาน ที่ถูกตั้งคำถามประเด็นสิทธิมนุษยชน

ภายหลังการประกาศลาออกของ 6 รายชื่อคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ติดตามและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ภัยแล้ง มลภาวะ ที่ประกอบด้วย สุริชัย หวันแก้ว, เตือนใจ ดีเทศน์, เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ปรีดา คงแป้น, สิตางศุ์ พิลัยหล้า, หาญณรงค์ เยาวเลิศ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

'วอยซ์’ ถือโอกาสพูดคุยกับ 2 อดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์ ทส. ที่ติดตามและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ถึงรากปัญหาของการจัดการ ‘ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย’ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี


ปมลาออกจากคณะทำงานยุทธศาสตร์ ทส.

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วาระปี 2560  1 ใน 6 อดีตคณะทำงานฯ กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ถึงเหตุผลที่ลาออก​ว่า เกิดจากทีมรัฐมนตรีสามารถทำงานได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทีมคณะทำงานแล้ว แต่ยืนยันไม่ได้ขัดแย้งกันในกรณีแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่กำลังเป็นกระแสในเวลานี้ 

เธอกล่าวอีกว่า การจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก วราวุธ ศิลปอาชา เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ โดยเหตุผลการตั้งคณะทำงานก็เพื่อต้องที่ปรึกษาจากคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ที่ดิน และฝ่ายประสานงาน เชื่อมประสานระหว่างรัฐมนตรีกับภาคประชาชน

"ในอนาคตหากทีมรัฐมนตรีต้องการคำปรึกษาหรือแนวทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ยังยินดีให้ความร่วมมือ" เตือนใจกล่าว

สำหรับ ศาสตราจารย์ สุรชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเช่นกันว่า เหตุผลการลาออกเนื่องจากหลังจากจัดตั้งคณะทำงาน คณะทำงานดังกล่าวไม่ได้ประชุมงานร่วมกันเท่าที่ควร รวมถึงคุณวราวุธ รัฐมนตรีก็เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานเพียงครั้งเดียว ทำใหแนวทางแก้ปัญหาหลายอย่างไม่ค่อยได้้้้รับการพิจารณาจากทีีีีีีมรัฐมนตรีเท่าที่ควร

“การทำงานร่วมกันในแบบนี้อาจทำให้ความสำคัญของฝ่ายคณะทำงานไม่มีความหมายเท่าที่ควร เพราะหมายความว่าสิ่งที่คณะทำงานเสนอฝ่ายรัฐมนตรีอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ” สุรชัยกล่าว


แนวคิดอนุรักษ์ป่า : รัฐกับชนพื้นเมืองต่างกัน

เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า รากลึกของปัญหานี้คือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า มองว่าการอนุรักษ์ป่าควรเอาคนออกจากป่า แล้วให้รัฐเป็นคนดูแลเพียงฝ่ายเดียว 

“เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่ได้ใช้หลักการคนอยู่กับป่า ที่มองว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ สัตว์ป่าและมนุษย์ก็อยู่ร่วมกันได้ อย่างที่เป็นปรัชญาของ ทส.​ มาแก้ไขปัญหานี้” เตือนใจ กล่าว 

จากประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับชุมชนกะเหรี่ยงมาหลายสิบปี เตือนใจพบว่า ชาวกะเหรี่ยงมีส่วนในการอนุรักษ์ป่าในแบบวิถีกะเหรี่ยง 

เตือนใจ.jpg

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วาระปี 2560

เธอกล่าวว่า ที่ไหนมีกะเหรี่ยงในป่า ป่าบริเวณนั้นจะอุดมสมบูรณ์มาก บางพื้นที่อุดมสมบูรณ์จนกระทั้งถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะชาวกะเหรี่ยงผูกพันกับป่าและธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ ใช้จิตวิญญาณในการดูแลรักษา

“ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมีภาษิตสอนต่อกันมารุ่นต่อรุ่นว่า ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า ได้กินจากน้ำต้องอนุรักษ์น้ำเคารพบูชาในข้าว ข้าวคือปัจจัยสำคัญของชีวิต” เตือนใจกล่าว 

ปัญหาตอนนี้คือ แม้ระดับรัฐมนตรี ทส. อย่างคุณวราวุธ ศิลปอาชาและคณะทำงานก็เข้าใจและเปิดรับหลักการว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้ แต่ยังนำไปปฏิบัติไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานยังคงทำงานยึดหลักตามกฎหมาย 

“ปัญหาตอนนี้คือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานละเลยมิติด้านนิเวศวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าการทำไร่ข้าวหมุนเวียนเป็นการเผา ทำลายป่า บุกรุกป่าทำไร่ทั้งที่เป็นวิถีปลูกข้าวที่มีส่วนอนุรักษ์ป่า จึงต้องจับกุมตัวตามกฎหมาย” เตือนใจกล่าว  

ดังนั้นสำหรับเตือนใจอยากแนะนำให้ อธิบดี ทส. ไม่ว่าคนปัจจุบันหรือคนที่จะมาใหม่ ต้องเปลี่ยนแนวคิดการอนุรักษ์ป่าใหม่ควรให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันดูแลรักษาป่าได้ 

32191003_1929967963694325_6467403767686889472_o.jpg

ภาพระยะเวลาที่ไร่หมุนเวียนฟื้นฟูเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ภาพจาก : หมุนเวียนอย่างยั่งยืน


ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ : ไร่หมุนเวียนคือทำลายป่า

สำหรับเตือนใจ เหตุผลหลักที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ​ ไม่ให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปที่ชุมชนดั้งเดิมคือ ชาวบ้านจะบุกเบิกป่า เผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย สร้างมลพิษทางอากาศ ทั้งที่ความจริงชาวบ้านยืนยันว่าคือการทำไร่นาหมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีการทำไร่แบบกะเหรี่ยง เป็นแหล่งอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา 

เธอกล่าวอีกว่า การทำไร่นาหมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นระบบการเกษตรที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวของระบบนิเวศในป่าได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้พื้นที่แค่ 1 ฤดูกาลปลูกข้าว (7 ปี ทำ 1 ครั้ง) ซึ่งจะใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณครอบครัวละ 1 - 2 ไร่ เท่านั้น แล้วไม่ได้มีการขุดพลิกหน้าดิน ถากถางให้เตียนโล่งอันก่อให้การเกิดเสื่อมโทรมของพื้นที่

การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงคือ เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่โดยการถากถางพื้นที่ (ฟันไร่) ตัดต้นไม้ให้เหลือสูงประมาณ 1 เมตร แล้วก็มีการเผาเศษไม้ หญ้าในเวลาที่อากาศร้อนที่สุด อีกทั้งยังมีการทำแนวกันไฟ ซึ่งการเผาจะใช้เวลาเผาภายในชั่วโมงซึ่งจะเกิดพื้นที่ความร้อน จุดความร้อนและจุดความร้อนน้อยที่สุด 

"ดังนั้นการกล่าวหาว่าการทำไร่หมุนเวียนสร้างมลพิษทางอากาศนั้นไม่เป็นจริง เพราะในช่วงเผาใช้เวลาน้อย มีจุดความร้อนเพียงนิดเดียวและหายไปในเวลาสั้น" เตือนใจกล่าว

เธออธิบายต่ออีกว่า เมื่อเผาเสร็จชาวบ้านก็จะหยอดเมล็ดปลูกข้าวลงหลุม และในหลุมข้าวก็จะมีเมล็ดพันธุ์พืชอื่นๆ เช่น ถั่ว ขิง ข่า เผือกมัน ฟักแผง แตงกวาดอย ฯลฯ นับได้เกือบ 40 ชนิดในพื้นที่ไร่หมุนเวียนด้วย

“พบว่าหมู่บ้านมีอาหารเกือบ 120 ชนิด ดังนั้นชัดเจนว่าไร่ข้าวหมุนเวียนชาวกะเหรี่ยงเป็นแหล่งพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร และพอเกี่ยวข้าวเสร็จ ลูกไม้ของต้นไม้ที่ถูกตัดไว้แค่ 1 เมตร ก็จะตกมา จากนั้นก็มีไก่ป่ากระแตเข้ามาในไร่ สัตว์เหล่านั้นอาจกินและพาลูกไม้กระจายในพื้นที่ เมื่อถูกฝังลงดินก็เหมือนการปลูกซ้ำ ทำให้ระบบนิเวศก็เริ่มฟื้นฟูจนถึงปีที่ 7 ก็กลายเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง” เตือนใจอธิบาย 

ทั้งนี้เธอยังกล่าวว่า การตีความการใช้ที่ดินของเจ้าหน้าที่ คือต้องใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่อง ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมจะไม่ปล่อยให้ดินถูกถางจนโล่ง เพราะว่าถ้าดินร้อนก็จะเกิดหญ้า เกิดวัชพืชขึ้นมาก แต่ชาวกะเหรี่ยงปลูกข้าวฤดูแล้ว แล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวดินก็เย็น เพราะมีพืชฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทั้งไม้พุ่มต่ำ พุ่มเตี้ย และพุ่มสูง ปกคลุมดิน ซึ่งทำให้การรับฝนดี เป็นต้น 

“แต่เจ้าหน้าที่รัฐคิดว่า ชาวกะเหรี่ยงถางป่าโล่ง ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเชิงพาณิชน์ทำลายป่า อยากให้เจ้าหน้าที่เปรียบเทียบระหว่างปลูกพืชเชิงเดียวอย่างข้าวโพดหลายพันไร่ที่ต้องมีการเผาหลังเก็บเกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียนแบบชาวกะเหรี่ยงอันไหนสร้างมลพิษและทำลายระบบนิเวศป่ามากกว่ากัน” เตือนใจกล่าว

ปู่คออี้

'พื้นที่อุทยาน' ซ้อนทับ 'ชุมชนดั้งเดิม'

สำหรับเตือนใจ แม้ศาลปกครองสูงสุดจะติดสินให้หมู่บ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ​ เมื่อปี 2561 แต่ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านไม่มีเอกสารกรรมสิทธิ์ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ผลักดันให้ชาวบ้านออกจากที่ดินมาอยู่ที่ที่อุทยานฯ จัดให้ 

“คิดว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้คือกำหนดเขตป่าอนุรักษ์และที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านให้ชัดเจนใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลรักษาป่าด้วย” เตือนใจเสนอแนะ 

เธอกล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับกระทรวงจนถึงระดับปฏิบัติงานควรวิธีการนี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพราะสอดคล้องกับปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (Declaration on the Rights of Indigenous Peoples - UNDRIP) 

“ทส. ควรทำงานโดยคำนึงถึงสิทธิของชนพื้นเมือง ที่พูดถึงสิทธิในการอยู่อาศัย ทำกินในที่ของบรรพบุรุษ​ ต้องเรื่องนี้ควรนำมาใช้เป็นเงื่อนไขนี้มาพิจารณา” เตือนใจกล่าว


ไทยกลัวพลาดได้มรดกโลก

สำหรับเตือนใจคิดว่า เป้าหมายหลักของเจ้าหน้าที่ที่ต้องการผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยย้ายลงมาที่ที่อุทยานฯ จัดให้ เพื่อต้องการจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยไม่ให้เป็นอุปสรรคการขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

สืบเนื่องจาก ต้นปี 2563 ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานได้คัดค้านมติที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่เห็นชอบให้รัฐบาลไทยยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) จนกว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาที่ดินทำกินและสิทธิมนุษยชน 

"เรื่องนี้พูดง่ายๆ เป็นความพยายามของหลายฝ่ายในรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกให้ได้อย่างราบรื่น ไม่ให้มีการคัดค้าน" เตือนใจกล่าว

เธอกล่าวอีกว่า ในแง่นามธรรมเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่มีแหล่งมรดกโลกเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงหน้าตาของรัฐบาลในเวทีโลก

"ถือหน้าตาของประเทศ แหล่งมรดกโลกยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวอุทยานฯ และธุรกิจนันทนาการทางธรรมชาติได้" เตือนใจกล่าว

563000002432802.jpeg

ศาสตราจารย์ สุรชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง ละเลยหลักสิทธิมนุษยชน

สำหรับสุรชัย ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขสำเร็จเพราะว่าทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ​ และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานกรมอุทยานฯ ยังยึดวิธีการแก้ไขปัญหาแบบยึดหลักกฎหมายเหนือหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชมและความเป็นมนุษย์ของชาวกะเหรี่ยงพื้นเมือง

“อยากให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับนึกถึงสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของชาวกะเหรี่ยงที่เคยอยู่อาศัยตามวิถีชีวิตมาก่อน ถ้าอ้างแค่หลักกฎหมายอาจจะเป็นการไปรังแก ซ้ำเติมปัญหา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด” สุรชัยกล่าว


ใช้วิธีแบบทหาร-ตำรวจแก้ปัญหา

จากประสบการณ์ที่สุรชัยทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน ป่าไม้ที่ดินร่วมกับนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิชุมชนและเห็นเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหา อาทิ ชาวบ้านบุกรุกที่ป่าสงวนฯ เป็นต้น นั้นยังเป็นวิธีที่เน้นใช้ความรุนแรงจัดการเหมือนวิธีทางการทหาร ตำรวจซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาละเอียดอ่อนแบบนี้ได้ 

เขากล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่มักใช้คำว่าการสนธิกำลังระหว่าง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองปราบปรามชาวบ้านที่บุกรุกป่า ซึ่งการใช้วิธีการแบบนี้มักละเลยการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อมูลด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ก่อนการแก้ปัญหา 

“ถ้าปฏิบัติตามกฎหมายเฉยๆ ไม่สะท้อนบริบทเฉพาะ เงื่อนไขเฉพาะของพื้นที่ บางครั้งการใช้กฎหมายอาจจะกลายเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงและการปราบปรามที่โหดเหี้ยม” สุรชัยกล่าว

ล่าสุด มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวกับ 'วอยซ์' ว่า ตอนนี้ชาวบ้านที่ขึ้นไปอยู่ในพื้นที่บางกลอยบนทุกคน ถือว่ากระทำผิดกฎหมายแล้ว ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ วางแผนดำเนินการด้านกฎหมายกับชาวบ้านทั้งหมด ส่วนเด็กและสุภาพสตรีก็ต้องปฏิบัติตามขึ้นตอนและเงื่อนไขตามกฎหมาย

"ถ้าหากไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย เกรงว่าพื้นที่ป่าจะถูกบุกรุกเพิ่ม หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการ อาจจะถือว่าทำผิดกฎหมายข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ได้"

มานะยืนยันว่า จะไม่มีปฏิบัติการไล่รื้อเหมือนในอดีต จะไม่ใช้ความรุนแรง จะดำเนินการละมุนละม่อม โดยภายในสัปดาห์นี้ (1- 7 ก.พ.64) เจ้าหน้าที่จะเริ่มพูดคุยเจรจากับชาวบ้านข้างบน โดยจะให้ลูกจ้างของอุทยานฯ​ ที่เป็นชาวบ้าน ลูก หลานของคนในหมู่บ้านไปพูดคุยร่วมกับผู้นำหมู่บ้านที่เป็นคนในหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่คนจากภายนอก

"อุทยานฯ เสนอจะหาที่ทำกินให้ชาวบ้านที่ยังไม่มีที่ทำกิน และจะหางานให้ทำ ทั้งงานลูกจ้างของอุทยานฯ และงานภายนอก แต่ชาวบ้านต้องกลับมาอยู่ที่ที่อุทยานฯ จัดให้" หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวทิ้งท้าย