ข้อถกเถียงต่อคำถาม 'ช่องว่างระหว่างวัย' หรือ 'ชุดสื่อสารต่างชนชั้น' เมื่อกลุ่มเยาวชนปลดแอกเปิดตัว 'RT MOVEMENT' กดปุ่ม 'RESTART THAILAND' สร้างสังคมที่เท่าเทียม ปลุกแรงงานผู้ถูกกดขี่ ลุกฮือสู้นายทุนผู้รีดเม็ดเงินจากหยาดเหงื่อ ภายใต้กระแสธารของการออกมาขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำองคาพยพสืบทอดอำนาจมากว่า 6 ปี
จากแรงกดทับกลายเป็นชนวนจุดระเบิดบนท้องถนน เกิดเป็นขบวนการหลอมหลวมคนเสื้อแดงและเยาวชน รวมถึงคนที่หวนคืนสู่ฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งเติบโตมาพร้อมการปกครองภายใต้กระบอกปืนจากคณะรัฐประหารอย่างน้อย 2 ครั้ง ในรอบ 15 ปี ที่พกพาปัญหาต่างๆ ทั้งสถาบันครอบครัว เพศสภาพ การศึกษา สวัสดิการแรงงาน มาไว้บนพื้นที่สาธารณะ
แน่นอนว่าจากกระแส 'ค้อน-เคียว' เมื่อถูกนำมาผูกการเคลื่อนไหวในศษตวรรษที่ 21 ด้วยประเด็นพุ่งหอกไปที่ชนชั้นแรงงาน ได้เกิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์และชวนตั้งคำถามว่า พวกเขาจะเข้าถึงจิตวิญญานของชนชั้นกรรมมาชีพได้อย่างใร
'วอยซ์' ชวน 'บุญยืน สุขใหม่' นักสหภาพแรงงานจากแดนตะวันออก จากกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ฯ ผู้เผชิญอำนาจนอกระบบจนทำให้หลุดลอยจากสารบบแรงงาน เพียงเพราะเขาไม่จำนนยอมเป็นนั่งร้านให้เผด็จการกดขี่พี่น้องร่วมอาชีพ มาร่วมสนทนาว่าด้วย MOVEMENT ที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์เคลื่อนไหวทางสังคม เรียกร้องสิทธิแรงงานตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน หรือ 27 ปี
'บุญยืน' มีฐานที่มั่นหลักคือพื้นที่ 'ชลบุรี-ระยอง' คอยหว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยให้มดงานที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนตรวจสอบองค์กรนายทุน ปลุกการตื่นรู้ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ
แม้ว่ากลไกทางกฎหมายไม่ได้เอื้อต่อพวกเขามากนัก แต่บุญยืนยังคงทนงยืนสันหลังตรงต่ออุดมการณ์รัฐสวัสดิการที่ยังมาไม่ถึง
'ผู้นำแรงงานต้านเผด็จการ' บอกกับ 'วอยซ์' ว่าส่วนตัวเขาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาทั้ง 3 ข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักที่ต้องได้รับการแก้ไข-ปฏิรูป แต่เมื่อมีแคมเปญ RESTART THAILAND ที่โฟกัสมายังกลุ่มชนชั้นแรงงาน ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศราว 38 ล้านคน คำถามมีอยู่ว่าแรงงานทั้งหมดจะสนับสนุนกลุ่มเยาวชนหรือไม่
'บุญยืน' ไม่ปฏิเสธความปรารถนาของเยาวชน ทว่าการเจาะกลุ่มเป้าหมายกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเงื่อนไขหลากข้อจำกัด โดยเฉพาะจุดยืนต่างฝั่งทางการเมือง
"ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานมีหลายกลุ่มหลายย่าน ยกตัวอย่างกลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ ก็เห็นดีเห็นงามกับกลุ่ม กปปส. พวกเขายังคงใช้คำว่าทุนสามานย์อยู่เช่นเดิม และไม่เอาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์"
บุญยืนบอกเล่าถึงกำแพงความคิดของแต่ละกลุ่มที่มีจุดยืนแตกต่างกัน ยากที่จะวางหมวก วางท่า ปรับขบวนร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามเมื่อประกายเรื่องคนถูกกดขี่ถูกจุดขึ้นมา ใช่ว่าเขาจะหมดหวังร่วมสานต่อ
"ขบวนการนักศึกษาต้องพยายามสร้างบรรยากาศตื่นรู้ให้กับกลุ่มแรงงานที่เป็นเป้าหมาย และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาเข้าร่วมให้ได้"
ผู้นำกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก บอกอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญของการเชื่อมร้อยกันในขบวนต่อสู้คือภาษา ร้อยพันครอบครัวต่างมุ้งต่างระบอบการศึกษา อาจเป็นอีกหนึ่งช่องว่างที่ยากเข้าถึงกันระหว่างสถานะในสังคม
"ผมว่าการสื่อสารคือสิ่งสำคัญ นักศึกษาต้องปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่ เพราะแรงงานบางคนเขาไม่รู้เรื่องทวิตเตอร์มากนัก ควรใช้ภาษาที่เข้าถึงง่าย บางคนเขาไม่เข้าใจภาษาวิชาการ และควรลงพื้นที่มาพูดคุยกับพวกเขาจริงๆ
"หลายครั้งที่ผมจัดชุมนุมในพื้นที่ ผมประสานไปที่ส่วนกลาง ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ ก็เข้าใจว่าอาจเป็นช่องว่างระหว่างวัย พวกเขาอาจจะไม่อินสิ่งที่เรากำลังเคลื่อนไหว ผมอยากให้มีแกนหลักมานั่งทำความเข้าใจกัน ส่วนตัวผมยังมีความหวังอยู่ หากแรงงานออกมากันเยอะ ก็จะร่วมกันสร้างพลังทางสังคมได้"
"นักศึกษาเขาพูดถึงอนาคต พวกผมก็พูดถึงอนาคตตัวเองเหมือนกัน" ผู้นำกรรมมาชีพ ให้คำแนะนำและส่งต่อความหวังให้คนรุ่นใหม่
แม้ว่าผ่านไปแล้ว 27 ปี บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน 'บุญยืน' บอกย้ำว่ายังคงทำหน้าให้พี่น้องต่อไป เพื่อให้พวกเขารู้ว่าอะไรคือรัฐสวัสดิการและทุนนิยมผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ และทำไมประชาชนต้องปฏิรูปเพื่อสร้างเส้นทางชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเขามองว่าหากวันนี้ยังคงหลบอยู่ในที่ตั้ง ไม่ออกมาเคลื่อนไหว แรงงานก็จะถูกด้อยค่า ถูกครอบงำจากทุนใหญ่ให้อยู่ใต้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม
"เราพยายามวางโรดแมปจัดเวทีชุมนุมให้ได้เดือนละครั้ง เพื่อพูดประเด็นทุนนิยมที่ผูกขาดโดยศักดินาเหนือรัฐ ว่าทุนใหญ่ในประเทศไทยมาจากไหนบ้าง ให้คนงานรู้ว่ารัฐสวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำคัญอย่างไร" บุญยืน ทิ้งท้าย
ปัจจุบัน 'บุญยืน สุขใหม่' กำลังศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังถูกศาลตัดสินให้ออกจากงานเมื่อปี 2559 เขาออกมาเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานอย่างเต็มตัว
ปี 2560 บุญยืนได้รับแจ้งจากคนงานในโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งหนึ่งใน จ.ระยอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา มีแรงงานไทยประมาณ 10 % จากทั้งหมดราว 700 คน
จากนั้นเขาได้พาแรงงานไทยและเมียนมาไปตรวจสารตะกั่วที่ห้องทดลองของเอกชน พบว่าหลายคนมีสารพิษปนเปื้อนในเลือดสูงมาก มีผลข้างเคียงทางร่างกายตั้งแต่เม็ดเลือดขาว รวมถึงทำลายระบบประสาท และมีการปล่อยสารพิษตามแหล่งน้ำธรรมชาติ
ปี 2562 เขาได้เคลื่อนไหวร้องเรียนไปยังรัฐบาลผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่เขากลับถูกฟ้องจากบริษัทดังกล่าว เนื่องจากทำให้เสียชื่อเสียง
ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 เขาได้จัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง หลังวันที่สลายการชุมนุมนักศึกษาที่กรุงเทพฯ (16 ต.ค. ที่แยกปทุมวัน) วันนั้นมีการจัดแฟลชม็อบที่บ่อวิน (จ.ชลบุรี) มีพี่น้องแรงงานออกมาร่วมชุมนุมหลายพันคน
8 ธันวาคม มีหมายเรียก 'บุญยืน' เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่บริษัทดังกล่าวฟ้อง เขาตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดถึงเพิ่งออกหมายเรียก อาจจะมีความพยายามใช้กฎหมายไม่ให้เขาออกมาเคลื่อนไหวด้วยอำนาจนอกระบบ
อ่านเพิ่มเติม